หมวดที่ 2 โครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ห้องสมุดต้องมีโครงสร้างพื้นฐานหรือลักษณะทางกายภาพที่เอื้อต่อการลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการให้บริการและการบริหารจัดการห้องสมุดโดยมีการพิจารณารายละเอียดต่อไปนี้

กรณีเป็นอาคารสร้างใหม่

ห้องสมุดที่เป็นอาคารสร้างใหม่ต้องออกแบบก่อสร้างอาคารโดยคํานึงถึงข้อกําหนดและข้อกฎหมายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการใช้วัสดุก่อสร้างส่วนที่เป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมหรือวัสดุประกอบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้อ้างอิงข้อกําหนดที่เกี่ยวข้องภายใต้เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability: TREES) ของสถาบันอาคารเขียวไทย

ทั้งนี้อาคารสร้างใหม่คือ อาคารที่ได้รับการอนุมัติก่อสร้าง หลังจากที่มีการประกาศเกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว พ.ศ. 2559 ไปแล้ว 180 วัน

แนวทางเชิงปฏิบัติ

1. ศึกษามาตรฐานและข้อกฎหมายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้วัสดุ
ก่อสร้างส่วนที่เป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมหรือวัสดุประกอบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ให้อ้างอิงข้อกําหนดที่เกี่ยวข้องภายใต้เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability: TREES) ของสถาบันอาคารเขียวไทย

2. กําหนดให้มีแผนงานและมาตรการกําหนดโครงสร้างสถาปัตยกรรมหรือวัสดุประกอบอาคาร หรือ มาตรการอื่นใดที่เทียบเท่า ที่เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องต่อไปนี้

2.1 กําหนดโครงสร้างอาคารและวัสดุประกอบอาคารที่เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

2.2 ติดตั้งระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ

2.3 ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ประหยัดพลังงาน

2.4 ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเลือกปลูกพืชพื้นถิ่น หรือพืชที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก หรือปลูกพืชใช้น้ําน้อย หรือพืชที่ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นอาหารและจัดการภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงาม


กรณีเป็นอาคารเก่า

ห้องสมุดที่เป็นอาคารเก่า ต้องมีแผนงานและมาตรการการปรับปรุงโครงสร้างสถาปัตยกรรมหรือวัสดุประกอบอาคารให้เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

แนวทางเชิงปฏิบัติ

1. ศึกษาปัญหาและสภาพอาคารเดิม ที่เป็นอุปสรรคต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

2. กําหนดให้มีแผนงานปรับปรุงโครงสร้างสถาปัตยกรรมหรือวัสดุประกอบอาคารให้เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องต่อไปนี้

2.1 ปรับปรุงโครงสร้างอาคารและวัสดุประกอบอาคารให้เอื้อต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

2.2 ปรับปรุงระบบปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพ

2.3 ปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ประหยัดพลังงาน

2.4 ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเลือกปลูกพืชพื้นถิ่น หรือพืชที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก หรือปลูกพืชใช้น้ําน้อย หรือพืชที่ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นอาหารและจัดการภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงาม