ปรัชญา

บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ ก้าวทันเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่นเพื่อท้องถิ่น

วิสัยทัศน์

ศูนย์กลางการเรียนรู้ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

พันธกิจ

1. พัฒนาระบบบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัย

2. พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ บริการทรัพยากรสารสนเทศและดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัย

3. พัฒนาคุณภาพศูนย์การเรียนรู้สู่ห้องสมุดสีเขียวและสำนักงานสีเขียว

4. พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาษาต่างประเทศ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และท้องถิ่น

5. สนับสนุนและสร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับนานาชาติและหน่วยงานภายนอก

6. สนับสนุนโครงการตามพระราโชบายและบริการวิชาการท้องถิ่น

โครงสร้างสำนักวิทยบริการฯ

ประวัติสำนักวิทยบริการฯ

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา พัฒนามาจากห้องสมุด และหอสมุดตามลำดับ ห้องสมุดแห่งนี้เดิมชื่อ ห้องสมุดโรงเรียนฝึกหัดครูสงขลา ได้จัดตั้งพร้อมกับการย้ายที่ตั้งของโรงเรียนฝึกหัดครูสงขลาจาก ตำบล คอหงส์ มาตั้ง ณ ที่ปัจจุบันในปี พ.ศ.2502 โดยมีอาจารย์สถิตย์ ศุปการ เป็นบรรณารักษ์ และมีหนังสือประมาณ 500 เล่ม โดยใช้อาคาร 1 เป็นที่ตั้งของห้องสมุด

 

 

พ.ศ. 2504 โรงเรียนฝึกหัดครูสงขลาได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูสงขลา เปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) จึงได้มีบรรณารักษ์ซึ่งมีวุฒิทาง บรรณารักษศาสตร์ คือ อาจารย์วรรณี เหล่าสุวรรณ และได้ย้ายห้องสมุดจากอาคาร 1 มาอยู่ ณ อาคาร 2 ห้อง 221

 

ในปี พ.ศ. 2506 นักศึกษาสนใจใช้ห้องสมุดมากขึ้น ทำให้สถานที่คับแคบ จึงได้ย้ายห้องสมุดใหม่ไปยังห้อง 229 และใช้ห้อง 228 เป็นที่ปฏิบัติงานของบรรณารักษ์ เมื่อมีนักศึกษามาใช้ห้องสมุดเพิ่มมากขึ้น และมีบรรณารักษ์เพียง 1 คน จึงได้เริ่มให้มีนักศึกษามาช่วยงานในหน้าที่บรรณารักษ์ด้วย

 

พ.ศ. 2511-2512 อาจารย์สกุล นิลวรรณ อาจารย์ใหญ่วิทยาลัยครูสงขลาในขณะนั้น พิจารณาเห็นว่าห้อง 229 คับแคบเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ใช้หอสมุด จึงจัดงบประมาณสำหรับต่อเติมชั้นล่างของอาคาร 2 เพื่อทำเป็นห้องสมุด และในขณะเดียวกันได้จัดงบประมาณสำหรับจ้าง เจ้าหน้าที่ มาปฏิบัติงานในห้องสมุดแทนนักศึกษาด้วย ประกอบกับมีการเปิดสอนภาคค่ำ จึงทำให้ห้องสมุดได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น และมีจำนวนอาจารย์บรรณารักษ์เพิ่มขึ้น

 

พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับจัดสร้างห้องสมุดเป็นอาคารเอกเทศ นับเป็นอาคารหลังที่ 7 ของสถาบัน และได้เปิดบริการในวันที่ 21 มีนาคม 2518 มีพื้นที่ 1,900 ตารางเมตร และมีที่นั่งอ่าน 200 ที่นั่ง และได้เปลี่ยนชื่อเป็น หอสมุดวิทยาลัยครูสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมาหอสมุดวิทยาลัยครูสงขลา ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา อาจารย์ และชุมชน ด้วยดีตลอดมา มีเอกสาร ตำรา และวัสดุอื่น ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนาให้มีบริการที่ทันสมัยสมกับเป็นห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษายิ่งขึ้น

 

พ.ศ. 2536 ได้มีการนำโปรแกรมระบบงานห้องสมุดขององค์การศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ชื่อ โปรแกรม CDS/ISIS มาใช้ในการสืบค้นบทความจากวารสาร โดยจัดให้มีการอบรมความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมแก่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุด และในปีนี้ได้มีการปรับปรุงสถานที่ โดยการติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้นักศึกษาได้รับความสะดวกสบายในการศึกษาค้นคว้าในหอสมุด

 

พ.ศ. 2537 เริ่มเปิดให้นักศึกษาสืบค้นข้อมูลจากวารสาร โดยใช้โปรแกรม CDS/ISIS ในเดือน พฤศจิกายน 2537

 

พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ พระราชทานนามวิทยาลัยครูเป็น สถาบันราชภัฏ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2538 และหลังจากนั้นโดยอธิการบดี คือ ผศ. ดร. นิวัติ กลิ่นงาม ได้มีนโยบายปรับปรุงการบริหารหน่วยงานภายในสถาบัน จึงได้ยกฐานะหอสมุดวิทยาลัยครูสงขลาขึ้นเป็น สำนักวิทยบริการ สถาบันราชภัฏสงขลา โดยรวมงานเทคโนโลยีทางการศึกษาและหอสมุด เป็นหน่วยงานเดียวกัน อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

พ.ศ. 2540 สำนักวิทยบริการ ได้นำโปรแกรมระบบงานคอมพิวเตอร์มาใช้กับบริการยืม-คืน สิ่งพิมพ์ โดยใช้โปรแกรม Microsoft Access และขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาบริการโสตทัศนวัสดุขึ้นในหอสมุด โดยบริการยืมโสตทัศนวัสดุ ไปศึกษาที่บ้าน และเปิดบริการศึกษาจากโสตทัศนวัสดุเป็นรายบุคคลในสำนักวิทยบริการ

 

พ.ศ. 2541 สถาบันได้รับงบประมาณแผ่นดิน เพื่อจัดสร้างอาคารสำนักวิทยบริการหลังใหม่ 6 ชั้น เป็นเงิน 37 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายกิจการของสำนักวิทยบริการ โดยก่อสร้างขนานกับอาคารหลังเก่า

 

พ.ศ. 2542 สำนักวิทยบริการ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิทยบริการ ตามนโยบายการบริหารหน่วยงานภายในของสถาบัน

 

พ.ศ. 2541-2542 ศูนย์วิทยบริการได้รับงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 1.8 ล้านบาท เพื่อจัดหาโปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ศูนย์วิทยบริการ สถาบันราชภัฏสงขลา ได้ใช้โปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติชื่อ Alice for Windows (AfW) โดยใช้กับงานทุกงานของศูนย์วิทยบริการ และให้บริการสืบค้นข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่ปีการศึกษา 2543 เป็นต้นมา

 

พ.ศ. 2544 ในภาคเรียนที่ 1 อาคารศูนย์วิทยบริการ 6 ชั้น ได้ก่อสร้างเสร็จและเริ่มให้บริการนักศึกษา โดยได้ย้ายหนังสือและบริการบางส่วนไปยังอาคารวิทยบริการ 6 ชั้น และได้ให้บริการเต็มรูปแบบ ในภาคเรียนที่2/2544 เป็นต้นมา

 

 

พ.ศ. 2544-2545 ศูนย์วิทยบริการเปิดบริการโดยใช้อาคาร 2 หลัง มีทางเชื่อมระหว่างอาคารชั้นที่ 1 และ 2 ศูนย์วิทยบริการ เป็นหน่วยงานสนับสนุนภารกิจของสถาบัน ได้มีการพัฒนาให้มีศักยภาพในการให้บริการทางวิชาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

พ.ศ. 2545 สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนรานิวาสราชนครินทร์ พระราชทานนามอาคารบรรณราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2545 และเริ่มนำระบบประกันคุณภาพมาใช้ในการดำเนินงาน

 

พ.ศ. 2546 ศูนย์วิทยบริการ มีการจัดทำคู่มือประกันคุณภาพ แผนกลยุทธ์ รายงานการประเมินตนเอง

 

พ.ศ. 2547 วันที่ 29 มกราคม 2547 มีการตรวจประเมินคุณภาพภายในเป็นครั้งแรก และในวันที่ 23 มิถุนายน 2547 มีการตรวจประเมินคุณภาพภายในเป็นครั้งที่ 2

 

พ.ศ 2548 ศูนย์วิทยบริการ ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2547 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548



© 2019 Office of Academic Resources and Information Technology. All rights reserved