แนวทางการพัฒนาด่านชายแดนสะเดา ( Development Approach of Sadoa Border )

ประเภท: 

งานวิจัย

ผู้แต่ง: 

สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์

สำนักพิมพ์: 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2557

เลขหมู่: 

ว.382.095930595 ส47น

รายละเอียด: 

ด่านชายแดนสะเดาเป็นด่านชายแดนที่สำคัญที่มูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดของประเทศ การศึกษาถึงสภาพปัญหา อุปสรรค และโอกาสในการเข้าสู่ระบบ National Single Window (NSW) จึงเป็นประเด็นที่สำ คัญและจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง วัตถุประสงค์การวิจัยนี้คือ (1) เพื่อศึกษาความสำคัญและบทบาทของด่านชายแดนสะเดา (2) เพื่อวิเคราะห์ SWOT ด่านชายแดนสะเดาในเข้าสู่ระบบ NSW และ (3) เพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาระบบ NSW ของด่านชายแดนสะเดา โดยทำการศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่ระบบ NSW ของด่านชายแดนสะเดา ด้วยระเบียบวิธีเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลหลักในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบ NSW ของด่านชายแดนสะเดา ผู้วิจัยได้ทำการทบทวนแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มาตรการด้านศุลกากร กระบวนการศุลกากร ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับด่านชายแดนสะเดา ขีดความสามารถในการแข่งขัน ระบบ NSW และเนื่องจากเป้าหมายของการวิจัยมุ่งพัฒนา ผู้วิจัยจึงได้ทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ SWOT และการวิจัยเชิงพัฒนา ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องการให้บริการและพิธีการศุลกากร ผลการศึกษาจำแนกตามวัตถุประสงค์ เป็นดังนี้ (1) ความสำคัญและบทบาทของด่านชายแดนสะเดา พบว่า ด่านชายแดนสะเดามีความสำคัญและบทบาทต่อเศรษฐกิจชายแดนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นด่านที่มีมูลค่าการค้าข้ามแดนมากที่สุดของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกเกือบร้อยละ 60ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และมีมูลค่านำเข้าสูงถึง 192.7พันล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 83.8ของมูลค่าการส่งออกรวมของด่านชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (2) ผลการวิเคราะห์ SWOT ของด่านชายแดนสะเดาในการเข้าสู่ระบบ NSW พบว่า ด่านชายแดนสะเดาค่อนข้างมีศักยภาพในการเข้าสู่ระบบ NSW เนื่องจากมีจุดแข็งในเรื่องของบุคลากร งบประมาณ และด้านกายภาพ มีโอกาสในเรื่องของกรอบความร่วมมือต่าง ๆ งบประมาณสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบ แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องของกระบวนการในการใช้ระบบ ข้อกฎหมายที่ยังไม่เอื้อต่อการใช้ระบบ และจุดอ่อนในการกำหนดผู้รับผิดชอบหลักไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ และ (3) แนวทางในการพัฒนาด่านชายแดนสะเดาสำหรับรองรับระบบ NSW เพื่อการเป็น ประตูสู่อาเซียน ในครั้งนี้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนา 4ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1การพัฒนาระบบ NSW เชิงบูรณาการและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ให้เพียงพอและได้มาตรฐาน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การปรับปรุงพัฒนาข้อกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอน ให้เอื้อต่อการดำเนินการและมีความทันสมัยทันต่อการเปลี่ยนแปลง และยุทธศาสตร์ที่ 4การพัฒนาระบบบริหารจัดการให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ผลจากการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ (1) ผู้บริหารด่านชายแดนสะเดาและด่านชายแดนอื่น ๆ ควรนำยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ และมาตรการต่าง ๆ เป็นข้อมูลในการกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาเพิ่มศักยภาพในอนาคต (2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบ NSW ควรนำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อรองรับและสนับสนุนการพัฒนาระบบ NSW และ (3) สถาบันการศึกษาควรนำข้อมูลและผลการศึกษาไปใช้ประกอบการเรียนการสอน

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

แนวทางการพัฒนาด่านชายแดนสะเดา