ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรีใน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา (Factors Affected the Decision for Cervical Cancer Screening among Women in Singhanakhon District, Songkhla Province)

ประเภท: 

งานวิจัย

ผู้แต่ง: 

เทพกร พิทยาภินันท์, ฤดีดาว ช่างสาน, สมมาศ วิไลประสงค์

สำนักพิมพ์: 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2557

เลขหมู่: 

ว.616.99466 ท56ป

รายละเอียด: 

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านการรับรู้ ปัจจัยด้านอิทธิพล กับการตัดสินใจเข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และเพื่อเปรียบเทียบปัจจัยด้านการรับรู้ ปัจจัยด้านอิทธิพล ระหว่างสตรีที่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก กับสตรีที่ไม่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีจำนวน 429 คน ในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ สตรีที่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 88 คน และสตรีที่ไม่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 341 คน โดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบสัดส่วนตามจำนวนสตรีกลุ่มเป้าหมายในแต่ละสถานบริการสาธารณสุข ในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาและเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) จำนวน 30 คน เพื่อสัมภาษณ์แบบสนทนากลุ่ม เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่มีความเชื่อมั่น = 0.8681และแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความสัมพันธ์โดยใช้สถิติChi-Square เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยสถิติt-test ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล สถานภาพสมรส รายได้ อายุขณะมีบุตรคนแรก การเจ็บป่วยของญาติ มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปัจจัยด้านการรับรู้ และปัจจัยด้านอิทธิพลไม่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรี ส่วนผล การเปรียบเทียบปัจจัยการรับรู้ อิทธิพลระหว่างบุคคล และอิทธิพลของสถานการณ์ที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พบว่าสตรีที่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มีปัจจัยการรับรู้ ปัจจัยอิทธิพลระหว่างบุคคล และปัจจัยอิทธิพลของสถานการณ์มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าสตรีที่ไม่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทั้งนี้มีปัจจัยการรับรู้ และปัจจัยอิทธิพลระหว่างบุคคลมีความแตกกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการสัมภาษณ์สนทนากลุ่ม พบว่า สตรีส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่น่ากลัว รวมถึงวิธีการตรวจของโรคนี้ยังทำให้โรคนี้มีความน่ากลัวมากยิ่งขึ้น เหตุผลจูงใจที่ทำให้สตรีเข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คือ การรับรู้อันตรายของโรค และอาการแสดงของโรค ส่วนเหตุผลของสตรีที่ไม่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คือ ความอาย และกังวลว่าเจ้าหน้าที่ใกล้ชิดจะเป็นคนตรวจ นอกจากนี้วิธีการให้ข้อมูลเรื่องโรคมะเร็งปากมดลูก คือ การอบรมให้ความรู้และนำเสนอภาพอาการแสดงของโรคให้มากเพื่อให้ได้รู้ถึงความอันตรายของโรค

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสตรีใน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา