รายละเอียด: |
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการสอนแบบสร้างแรงจูงใจต่อการรับรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกของหญิงอายุ 30-60 ปี ตำบลกาวะ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาเป็นหญิงที่มีอายุ 30-60 ปี คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้จาก 2 หมู่บ้านของตำบลกาวะ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส จำนวน 60 ราย โดยจัดให้หญิง 30 ราย จากหมู่บ้านที่หนึ่งเป็นกลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสอนตามกิจวัตร และอีก 30 ราย จากหมู่บ้านที่สองเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับการสอนแบบสร้างแรงจูงใจจากผู้วิจัย โปรแกรมนี้เน้นการสอนแบบกลุ่มย่อย สาธิตวิธีตรวจด้วยสื่อและหุ่นจำลอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของแกนนำสตรี ใช้แบบประเมินการรับรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล โดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ และเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยการรับรู้เกี่ยวกับโรคของทั้งสองกลุ่มด้วยสถิติทีคู่ ผลการวิจัยพบว่า
1. หญิงที่ได้รับการสอนแบบสร้างแรงจูงใจ มีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกหลังการสอนแตกต่างจากก่อนการสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 10.24, p < 0.1)
2. หญิงที่ได้รับกรสอนแบบสร้างแรงจูงใจ มีคะแนนกรเฉลี่ยรับรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกแตกต่างจากหญิงที่ได้รับการสอนตามกิจวัตรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 4.72, p < 0.1)
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การสอนโดยใช้โปรแกรมแบบสร้างแรงจูงใจในหญิงที่มีอายุ 30-60 ปี ช่วยเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกได้ จึงควรนำโปรแกรมการสอนแบบสร้างแรงจูงใจต่อการรับรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการมารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของหญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป
|