รายละเอียด: |
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-experimental research) แบบ 2 กลุ่ม วัดผล
ก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง
ด้านความรู้ การรับรู้ความสามารถตนเอง การคาดหวังในผลดีของการปฏิบัติตัวและการปฏิบัติตัว และเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดและระดับความดันโลหิตของกลุ่มเสี่ยง กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูง มีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา สุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน กลุ่มควบคุม 30 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Paired t - test, Independent’s t - test และ ANCOVA
ผลการวิจัยพบว่า หลังการทดลองกลุ่มทดลองมีความรู้ การรับรู้ความสามารถตนเอง ความคาดหวังในผลดีของการปฏิบัติตัวมีระดับสูงเพิ่มขึ้น และสูงกว่ากลุ่มควบคุม ส่วนการปฏิบัติตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยก่อนและหลังทดลองพบว่ากลุ่มทดลองมีความรู้
การรับรู้ความสามารถตนเอง ความคาดหวังในผลดีของการปฏิบัติตัวสูงกว่าก่อนทดลองและสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ส่วนการปฏิบัติตัวหลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองและสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทั้ง 2 กลุ่มพบว่าไม่แตกต่างกันทางสถิติ
ดังนั้น ผลของโปรแกรมสุขศึกษาทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพลดโอกาสเป็นโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงได้ ควรนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงต่อไป
|