ช้างแคระ เป็นช้างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดอนเหนือของทะเลสาบสงขลาบริเวณพรุควนเคร็ง เชื่อมต่อกับพรุนางเรียม ซึ่งเป็นเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีชื่อเรียกโดยทั่วไป เช่น ช้างแคระ ช้างแกลบ ช้างค่อม ช้างแดง ช้างขัน และช้างนกยางขี่ มีขนาดเล็กกว่าช้างป่าขนาดโตเต็มที่เท่ากับความขนาดใหญ่ รวมตัวกันโขลงละประมาณ 20-30 ตัว โดยเดินทางจากบริเวณตอนเหนือของพรุลงมาหากินทางตอนล่างบริเวณนาข้าวของชาวบ้านโดยเมื่อถึงที่หากินจะกระจายออกโขลงละไม่เกิน 10 ตัว แล้วจะรวมโขลงอีกครั้งเมื่อเดินทางกลับดอนเหนือของพรุ เวลากลางวันจะอาศัยอยู่ในพรุที่มีน้ำท่วมขัง และขึ้นจากพรุออกมาหากินในเวลากลางคืน ก่อนจะกลับลงไปในพรุตอนเช้า ผลจากการทำลายนาข้าวและพืชผลอื่นๆทำให้ชาวบ้านฆ่าช้างเพื่อไม่ให้ทำลายพืชผล โดยใช้ปืนเป็นอาวุธหลักและช้างลดจำนวนลงไปมาก ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากมีอาวุธปืนที่หลงเหลือจากสงครามโลกเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ช้างแคระ หมดไปจากพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2506 ผลการกำหนดอายุกระดูกช้างแคระด้วยวิธีคาร์บอน 14 พบว่า กระบวนการสกัดไม่พบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในตัวอย่าง จึงไม่สามารถกำหนดอายุได้เนื่องจากจะต้องใช้คาร์บอน14 ซึ่งเป็นองค์ประกอบของคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวกำหนดอายุ เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะกระดูกตัวอย่างนั้นฝังอยู่ในดินท้องพระเป็นเวลานาน ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ละลายน้ำออกจนหมด |