การใช้พืชของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (ซาไก) ในจังหวัดสตูลและพัทลุง ( Plants Use in Mani (Sakai) Ethnic in Satun and Phatthalung Province)

ประเภท: 

งานวิจัย

ผู้แต่ง: 

นงลักษณ์ คงรักษ์, สุวรรณี พรหมศิริ

สำนักพิมพ์: 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2560

เลขหมู่: 

จ581.63 น12ก

รายละเอียด: 

การใช้พืชของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (ซาไก) ในจังหวัดสตูลและพัทลุง มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาชนิดของพืช แบบแผนการใช้พืชของกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่นำมาใช้ในวิถีชีวิต ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พืช และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พืชของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ โดยลงพื้นที่สำรวจ สังเกต และทำการสัมภาษณ์ทั้งผู้ใช้ข้อมูลหลัก คือกลุ่มมานิ และสัมภาษณ์ผู้ใช้ข้อมูลทั่วไป เป็นคนในพื้นที่ที่มีการติดต่อ คุ้นเคย สามารถสื่อสารกับกลุ่มมานิได้ และมีความรู้เรื่องพืช ผลการศึกษาพบว่า พืชที่กลุ่มมานินำมาใช้ในวิถีชีวิตมีจำนวน 44 วงศ์ 76 สกุล 99 ชนิด และจัดจำแนกตามการใช้ประโยชน์ใน 6 ด้าน คือ พืชอาหาร จำนวน19 วงศ์ 27 สกุล 42 ชนิด วงศ์ DIOSCOREACEAE ถูกนำมาใช้มากที่สุดพืชที่นำมาใช้ทำที่อยู่อาศัย จำนวน 5 วงศ์ 14 สกุล 17 ชนิด วงศ์ ARECACEAE ถูกนำมาใช้มากที่สุด พืชที่นำมาใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม ไม่ปรากฏ พืชที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรค จำนวน 31 วงศ์ 40 สกุล 45 ชนิด วงศ์ที่นำมาใช้มากที่สุด มี 4 วงศ์ คือ วงศ์ ANNONACEAE, APOCYNACEAE, RUTACEAE และวงศ์ ZINGIBERACEAE พืชที่นำมาทำเครื่องใช้ จำนวน 10 วงศ์ 16 สกุล 18 ชนิด วงศ์ ARECACEAE ถูกนำมาใช้มากที่สุด และพืชที่มาใช้ในเรื่องความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม จำนวน 4 วงศ์ คือ MENISPERMACEAE วงศ์ MORACEAE วงศ์ MUSACEAE และวงศ์ ZINGIBERACEAE ชนิดพืช แบบแผนการใช้พืช วิธีการใช้พืชทุก ๆ ด้านของกลุ่มมานิ เป็นการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง วิธีใช้ยามีทั้งใช้กินสด หลาม เผา เช่นเดียวกับการปรุงอาหาร แต่วิธีการเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พืช และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พืชของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ คือ การบุกรุกพื้นที่ป่า แรงกดดันจากสังคมเมือง ความสัมพันธ์กับคนเมือง ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียความหลากหลายทางวัฒนธรรมในวิถีชีวิตของชนเผ่ามานิทั้งวัฒนธรรมการกิน การแต่งกาย การทำที่อยู่อาศัย การใช้สมุนไพร วิถีชีวิตเปลี่ยนจากป่าเป็นที่พึ่งพิงในทุก ๆ ด้าน มารับวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาผสมผสานกับรูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมเพื่อความอยู่รอด และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้ความรู้และภูมิปัญญาการใช้ พืชสมุนไพร พืชอาหาร พืชที่นำมาทำที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ อาวุธ และการใช้พืชในความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ที่สั่งสมกันมานับหมื่นปีของกลุ่มมานิจะค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลา พร้อม ๆ กับการสูญเสียพันธุกรรมพืช และชาติพันธุ์ของกลุ่มมานิอันเป็นมรดกธรรมชาติอันล้ำค่าในที่สุด

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

การใช้พืชของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (ซาไก) ในจังหวัดสตูลและพัทลุง