การจัดการโดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าเกาะยอจังหวัดสงขลา (The Philosophy of Sufficiency Economy in Management of Community Enterprise, Koh Yo Cotton Textile Weaver, Songkhla)
|
ประเภท: |
งานวิจัย |
ผู้แต่ง: |
ประภาพร ยางประยงค์ |
สำนักพิมพ์: |
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา |
ปีที่พิมพ์: |
2557 |
เลขหมู่: |
|
รายละเอียด: |
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาลักษณะการจัดการของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าเกาะยอ จังหวัดสงขลา โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ 2) ศึกษาจุดอ่อนและอุปสรรคของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าเกาะยอ จังหวัดสงขลา โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผู้วิจัยใช้ระเบียบการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการศึกษาเชิงสำรวจ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง วิสาหกิจทอผ้าเกาะยอรายใหญ่จำนวน 2 ราย คือ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าเกาะยอ และกลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 ผู้วิจัยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์ บริบทเชิงเนื้อหา วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค และการสังเคราะห์สรุปประเด็นตามเนื้อหา
ผลการศึกษาลักษณะการจัดการของวิสาหกิจฯ โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มีดังนี้ พอประมาณ พบว่าในการผลิตผ้าทอเกาะยอจะไม่เน้นปริมาณสูงสุด ในจำนวนที่เหมาะสมแก่อัตภาพตามฐานทรัพยากรที่มีอยู่ ผลิตด้วยความพิถีพิถัน เน้นคุณภาพ และไม่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด มีเหตุผล พบว่ามีการแสวงหาความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีภูมิคุ้มกัน พบว่ามีการจัดการที่เน้นการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โดยมีการผลิตและการจัดจำหน่ายในบ้านพัก เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สามารถดูแลครอบครัวในเวลาเดียวกันได้ ไม่มีภาระหนี้สิน และมีการแบ่งความรับผิดชอบภายในองค์กรอย่างชัดเจน นอกจากนั้น มีความรู้และคุณธรรม เพราะมีการควบคุมมาตรฐานสินค้าให้มีคุณภาพตลอดเวลา ผลิตโดยความชำนาญ มีประสบการณ์สูง และมีการตั้งราคาสินค้าที่เป็นธรรม
สำหรับจุดอ่อนและอุปสรรคในการจัดการของวิสาหกิจฯ โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีดังนี้ (1) มีข้อจำกัดในการเพิ่มกำลังการผลิต เพราะมีบุคลากรน้อย (2) ไม่ได้นำส่วนผสมทางการตลาดมาใช้เท่าที่ควร ซึ่งฉลากและบรรจุภัณฑ์ ไม่มีความโดดเด่น ไม่สามารถดึงดูดผู้ซื้อได้ ไม่สะดุดตา มีขนาดเล็ก ตราสินค้า ไม่สามารถแสดงเอกลักษณ์ของตัวผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจน (3) กระบวนการผลิตสินค้า ใช้เวลานาน เนื่องจากผลิตด้วยความพิถีพิถัน นอกจากนั้น ส่วนงานบัญชีของวิสาหกิจฯ ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ (4) การสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐมีไม่เพียงพอ (5) การส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายจากภาครัฐ ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ และ (6) ลูกค้าไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ |
ไฟล์เอกสาร: (คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) |
|
|
|