การศึกษาวิจัยเรื่องพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1.เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 2.เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง เกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) ค่าใช้จ่ายรายเดือน และที่พักอาศัยขณะกำลังศึกษา กับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเขตอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีสมมติฐานในการวิจัยว่า เกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) ค่าใช้จ่ายรายเดือน และที่พักอาศัยขณะกำลังศึกษา มีความสัมพันธ์กับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเขตอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักศึกษาระดับปริญญาตรี(ภาคปกติ) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (วิทยาเขตสงขลา) มหาวิทยาลัยทักษิณ (วิทยาเขตสงขลา) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (วิทยาเขตสงขลา) ปีการศึกษา 2557 กำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของยามาเน่ ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน ผลการวิจัยพบว่า
นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 76 บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 24 ไม่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยนักศึกษาที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกเมื่ออายุ 15-18 ปี (ร้อยละ 38.5) สาเหตุมาจากอยากทดลองดื่มมากที่สุด (ร้อยละ 57.6) ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครองของนักศึกษาส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานๆ ครั้ง มากที่สุด (น้อยละ 65.1) ความถี่ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักศึกษาส่วนใหญ่เดือนละครั้ง มากที่สุด (ร้อยละ 38.5) ค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเดือนส่วนใหญ่น้อยกว่า 500 บาท มากที่สุด (ร้อยละ 59.9) โอกาสในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่จะดื่มในงานเลี้ยงสังสรรค์ (ร้อยละ 70.7) สถานที่นักศึกษามักจะดื่มส่วนใหญ่ คือ ในสถานบันเทิง/ร้านคาราโอเกะ มากที่สุด (ร้อยละ 45) และส่วนใหญ่นักศึกษาดื่มเครื่องดื่มประเภทเบียร์ (ร้อยละ 43.8)
ผลกระทบหลังการดื่มพบว่า เมื่อนักศึกษาดื่มแล้ว สามารถไปเรียนในวันรุ่งขึ้นได้ (ร้อยละ 90.1) ผลการเรียนไม่ตกต่ำลง (ร้อยละ 77.3) นักศึกษามีขาดเรียนบ้างเป็นบางครั้ง (ร้อยละ 50) ส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้รู้สึกเบลอๆ มึนๆ ไม่สดชื่น เฉี่อยชา หลงๆ ลืมๆ (ร้อยละ 55.3) และไม่เคยประสบอุบัติเหตุหลังการดื่ม (ร้อยละ 85.2) |