แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม กรณีศึกษา:อุทยานนกน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง

ประเภท: 

วิทยานิพนธ์

ผู้แต่ง: 

นายโกวิทย์ เหมือนสังข์

สำนักพิมพ์: 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2557

เลขหมู่: 

ว.พ.338.4791 ก87น 2557

รายละเอียด: 

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาบริบทการท่องเที่ยวอุทยานนกน้ำทะเลน้อย 2) เพื่อศึกษาปัญหาการท่องเที่ยวอุทยาน นกน้ำทะเลน้อย 3) เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอุทยานนกน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอุทยานนกน้ำทะเลน้อย ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลหลักที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้มี 3 ภาคส่วน ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน ทั้งหมดจำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์ชนิดไม่มีโครงสร้าง โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกตัวต่อตัว จำนวน 5 คน สัมภาษณ์กลุ่มจำนวน 7 คน และสรุปแนวทางการพัฒนา การท่องเที่ยวอุทยานนกน้ำทะเลน้อยโดยการสนทนากลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวน 7 คน ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยการถอดเทปและนำข้อมูลที่ได้มาจัดกลุ่มข้อมูลตามประเด็น สังเคราะห์ข้อมูล แปลความหมายข้อมูลและนำเสนอเชิงพรรณนาความ การศึกษาเชิงปริมาณจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวอุทยานนกน้ำทะเลน้อย จำนวน 400 ตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถาม มี 3 ตอน ตอนที่ 1เป็นลักษณะตรวจสอบรายการ ตอนที่ 2 เป็นมาตราส่วนประมาณค่า ตอนที่ 3 เป็นการบรรยายความโดยผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จ SPSS ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาค่าเฉลี่ยร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำเสนอข้อมูลโดยการบรรยายความ ผลการศึกษาตอบคำถามการวิจัยข้อที่ 1 สภาพทั่วไปของการท่องเที่ยวอุทยานนกน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง พบว่า อุทยานนกน้ำทะเลน้อยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมและพักผ่อนได้ โดยในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี การขาดการบริหารจัดการและการประเมินศักยภาพด้านพื้นที่ที่เหมาะสม ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว คำถามการวิจัยข้อที่ 2 ปัญหาการท่องเที่ยวอุทยานนกน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง พบปัญหาสามารถแบ่งเป็น 4 ด้านได้แก่ 1)ปัญหาด้านสิ่งดึงดูดใจ เช่นการบุกรุกทำลายทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ 2)ปัญหาด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพระราชบัญญัติการใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ ที่ทับซ้อน 3) ปัญหาด้านการเข้าถึง คือป้ายบอกทาง ป้ายสัญลักษณ์ ป้ายเตือน ป้ายยินดีต้อนรับขนาดใหญ่ยังมีไม่เพียงพอ 4) ปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ คือ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อแผ่นผับ ใบปลิว ยังไม่แพร่หลาย คำถามการวิจัยข้อที่ 3 แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอุทยานนกน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง พบว่า ควรจัดทำแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ทะเลน้อย และมีการจัดตั้งคณะทำงานที่จะเป็นตัวกลางประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปแนวทางในการดำเนินงานดังนี้ 1) ด้านสิ่งดึงดูดใจ ควรกำหนดพื้นที่การให้บริการที่ชัดเจนและเหมาะสม 2) ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ควรพัฒนาที่จอดรถ ห้องสุขา ท่าเทียบเรือ ให้ได้มาตรฐานไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ 3) ด้านการเข้าถึง ควรมีการจัดทำป้ายสื่อความหมาย ป้ายบอกทิศทางภายในแหล่งท่องเที่ยวให้ชัดเจน ป้ายเตือนนักท่องเที่ยวในจุดที่เสี่ยงอันตราย 4) ด้านการประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดสรรงบประมาณในการจัดทำแผ่นผับ ใบปลิว เว็บไซต์ เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว 5) การมีส่วนร่วมของชุมชุน ควรมีการจัดตั้งกลุ่มประสานงานการท่องเที่ยวอุทยานนกน้ำทะเลน้อย และจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชนและเยาวชน

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม กรณีศึกษา:อุทยานนกน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง