การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาสภาพการแข่งขันของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปในจังหวัดสงขลา (2) เปรียบเทียบสภาพการแข่งขันของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปในจังหวัดสงขลา จำแนกตามลักษณะของธุรกิจ และ (3) เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพการแข่งขันของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปในจังหวัดสงขลากลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปจำนวน 52 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบ F-test และการเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธี Scheffé และการวิจัยเชิงคุณภาพสัมภาษณ์ผู้จัดการฝ่ายการผลิตของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปในจังหวัดสงขลาจำนวน 10 แห่ง ผลการวิจัย พบว่า (1) สภาพการแข่งขันของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปในจังหวัดสงขลาในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านอำนาจการต่อรองของผู้ขายปัจจัยการผลิตมีระดับสภาพการแข่งขันมากที่สุด รองลงมา คือ อำนาจการต่อรองของผู้ซื้อ และน้อยที่สุด คือ ด้านการคุกคามจากผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนกันได้ (2) สภาพการแข่งขันของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปในจังหวัดสงขลา จำแนกตามขนาดธุรกิจ พบว่า ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 36.5 มีระยะเวลาในการประกอบธุรกิจมากกว่า 10 ปี จำนวน 35 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 67.3 ส่วนใหญ่ธุรกิจจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปในต่างประเทศ จำนวน 26 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50.0 และส่วนใหญ่มีรายได้ปีล่าสุดของธุรกิจ(ปี 2555) ระหว่าง 51 – 200 ล้านบาท จำนวน 17 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 32.7 และเมื่อเปรียบเทียบสภาพการแข่งขันของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปจำแนกตามลักษณะของธุรกิจ พบว่า ด้านการคุกคามจากผลิตภัณฑ์ ที่ทดแทนกันได้แตกต่างกันมีจำนวน 1 คู่ คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลาง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สภาพการแข่งขันของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปจำแนกตามระยะเวลา ในการประกอบธุรกิจ เมื่อพิจารณาแต่ละรายด้านพบว่า ด้านการเข้าสู่อุตสาหกรรมของคู่แข่งขันใหม่แตกต่างกัน มีจำนวน 1 คู่ คือ ระยะเวลาในการประกอบธุรกิจ 5 ปี - 10 ปี และระยะเวลาในการประกอบธุรกิจ น้อยกว่า 5 ปี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และด้านการคุกคามจากผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนกันได้ แตกต่างกันมีจำนวน 1 คู่ คือระยะเวลาในการประกอบธุรกิจ มากกว่า 10 ปี และระยะเวลาในการประกอบธุรกิจน้อยกว่า 5 ปี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนโดยภาพรวมและรายด้านที่เหลือไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และ (3) เพื่อเสนอ แนวทางแก้ไขปัญหาการแข่งขันของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปในจังหวัดสงขลา พบว่า ด้านการเข้าสู่อุตสาหกรรม ของคู่แข่งขันใหม่ ด้านการแข่งขันระหว่างธุรกิจในอุตสาหกรรม ด้านการคุกคามจากผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนกันได้ ด้านอำนาจการต่อรองของผู้ซื้อ และด้านอำนาจการต่อรองของผู้ขายปัจจัยการผลิต ธุรกิจควรหาแนวทางในการพัฒนาธุรกิจ คือควรมีการรวมกลุ่มกันของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และสร้างแนวทางการป้องกันเพื่อเพิ่มจุดแข็งต่อธุรกิจให้เกิดผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมประมง/อุตสาหกรรมจังหวัด ธุรกิจควรสร้างความได้เปรียบด้านการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมาตรฐานการส่งออก และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้บริโภคภายในประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการดำเนินงานของธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด |