รายละเอียด: |
งานวิจัยนี้เป็นการเชื่อมอะลูมีเนียมซึ่งหล่อกึ่งของแข็ง SSM 356 ด้วยกรรมวิธีเสียดทานแบบจุด ตัวแปรในการทดลอง ได้แก่ ความเร็วรอบ 380, 1240 และ 2500 รอบ/นาที ระยะกดลึก 1 และ 1.5 มิลลิเมตร และเวลาในการกดแช่ 30 และ 60 วินาที ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่า ลักษณะทางกายภาพผิวหน้าด้านบนรอยเชื่อมในทุกตัวแปรในการทดลองประสานกันดี การเชื่อมเสียดทานแบบจุดนั้นสามารถเพิ่มสมบัติทางกลของชิ้นงานได้ โดยที่ค่าความแข็งของชิ้นงานที่ผ่านกรรมวิธีเสียดทาแบบจุด มีค่าเฉลี่ยสุงสุดประมาณ 61.81 HV ซึ่งเป็นบริเวณเนื้อเชื่อม มีค่าความแข็งสูงกว่าเนื้อโลหะเดิม คิดเป็น 34.34 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเนื้อโลหะเดิม (ค่าความแข็งของเนื้อโลหะเดิม เฉลี่ยอยู่ที่ 40.58 HV) ซึ่งมาจากตัวแปรที่ความเร็วรอบ 1240 รอบ/นาที ที่ระยะกดลึก 1 มิลลิเมตร และเวลาในการกดแช่ 60 วินาที โครงสร้างมีการเปลี่ยนแปลงในบริเวณที่ได้รับความร้อนจากการเชื่อม สำหรับค่าความแข็งแรงดึงเฉือนของชิ้นงานที่ผ่านการเชื่อมเสียดทานแบบจุด มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 233.48 MPa มาจากตัวแปรของความเร็วรอบ 380 รอบ/นาที ที่ระยะกดลึก 1.5 มิลลิเมตร และในเวลาการกดแช่ 60 วินาที และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติของค่าความแข็งแรงดึงเฉือน พบว่าค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจ R2 เท่ากับ 95.42 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวแปรที่สามารถควบคุมได้ ในทางตรงกันข้ามส่วนที่เหลือประมาณ 4.58 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะเห็นได้ว่าการเชื่อมแบบเสียดทานแบบจุดนั้นสามารถเชื่อมวัสดุในกลุ่มของอะลูมีเนียมที่ผ่านการหล่อกึ่งของแข็งได้ และมีผลการทดลองที่ดี |