การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการบริหารโรงเรียนเรียนร่วมภายใต้โครงสร้างซีท ของผู้บริหารโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ตามความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียนและครู รวมทั้งหมด 160 คน จำแนกตามตำแหน่ง ระดับการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน โดยใช้แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่น 0.95 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที
ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารโรงเรียนและครูมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียนเรียนร่วมภายใต้โครงสร้างซีท โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากทุกด้าน ผลการเปรียบเทียบการบริหารโรงเรียนเรียนร่วมภายใต้โครงสร้างซีท ของผู้บริหารโรงเรียน จำแนกตามระดับการศึกษาพบว่า ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรีมีความคิดเห็นในภาพรวมไม่แตกต่างกัน โดยมีระดับความคิดเห็นของผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี สูงกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาปริญญาตรีจำแนกตามตำแหน่ง พบว่า มีความคิดเห็นในภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีระดับความคิดเห็นของผู้บริหารสูงกว่าครู จำแนกตามประสบการณ์การทำงานพบว่า มีความคิดเห็นในภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยมีระดับความคิดเห็นของผู้ที่ไม่ผ่านการอบรมสูงกว่าผู้ที่ผ่าน
การอบรม และความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียนเรียนร่วมภายใต้โครงสร้างซีทของผู้บริหารโรงเรียน ได้แก่ ควรมีการชี้แจงทำความเข้าใจให้ชัดเจนระหว่างผู้บริหาร ครู และบุคลากร ให้ความรู้ความเข้าใจกับนักเรียนปกติเกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ส่งเสริมครูหรือบุคลากรเข้าอบรมสัมมนา ให้ครูประจำชั้นหรือครูเสริมวิชาการมีการประเมินนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษและรายงานให้ผู้ปกครองทราบ จัดสรรงบประมาณและบุคลากรให้เหมาะสมเพียงพอ
การวิจัยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นแนวทางพัฒนาสำหรับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ควรมีการศึกษาในระดับอื่น ๆ เนื่องจากเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีหลายระดับและ ควรมีการประเมินติดตามผล เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่นำไปสู่การแก้ไขและพัฒนาต่อไป
|