การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลส่วนบุคคลกับการรับรู้ของผู้สูงอายุและคนพิการที่มีต่อการดำเนินงานการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้สูงอายุและคนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดตรัง ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้สูงอายุและคนพิการในจังหวัดตรัง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้สูงอายุจำนวน 323 คน และคนพิการ จำนวน 77 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้วยสถิติทดสอบไค-สแควร์
ผลการศึกษา พบว่า แผนงานให้บริการด้านสุขภาพอนามัย พบว่า ผู้สูงอายุและคนพิการรับรู้เรื่องแนวทางการจัดฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้มากที่สุด แผนงานส่งเสริมการอยู่ร่วมกันและความเข้มแข็งด้านองค์กร พบว่า ผู้สูงอายุและคนพิการรับรู้เรื่องการจัดให้ชมรม/องค์กรร่วมกันจัดกิจกรรมตามความต้องการของสมาชิกมากที่สุด แผนงานส่งเสริมอาชีพหรือรายได้ พบว่า ผู้สูงอายุและคนพิการรับรู้เรื่องการแนะนำแหล่งเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพมากที่สุด และแผนงานด้านการบริหารจัดการระบบพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการรับรู้เรื่องการจ่ายเบี้ยยังชีพมากที่สุด รายได้เฉลี่ยต่อเดือน การเป็นสมาชิกกลุ่มหรือชมรม และการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้สูงอายุ มีความสัมพันธ์กับการรับรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ระดับความสามารถในการพึ่งตนเอง และการเป็นสมาชิกกลุ่มหรือชมรมของคนพิการ มีความสัมพันธ์กับการรับรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
|