การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) เปรียบเทียบความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ ของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน 2) เปรียบเทียบเจตคติต่อการเรียนภาษาไทยของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหารเทา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 2 จำนวน 32 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ จำนวน 8 แผน ได้ค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.80-1 2) แบบทดสอบความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ จำนวน 30 ข้อ ได้ค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.80-1 ค่าความยากง่าย (p) ระหว่าง 0.41-0.68 และค่าอำนาจจำแนก (r) ระหว่าง 0.25-0.75 และได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.85 และ 3) แบบวัดเจตคติต่อการเรียนภาษาไทยของนักเรียน จำนวน 15 ข้อ ได้ค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.80-1 สถิติการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า 1) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการมีความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการมีเจตคติต่อการเรียนภาษาไทยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
|