การศึกษาคุณลักษณะของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ต่อการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ตามความคิดเห็นของคณาจารย์ และนักศึกษา

ประเภท: 

วิทยานิพนธ์

ผู้แต่ง: 

หทัยรัตน์ ศรีชัยชนะ

สำนักพิมพ์: 

สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2557

เลขหมู่: 

ว.พ.371.912 ห14ก 2557

รายละเอียด: 

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณลักษณะของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ต่อการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ตามความคิดเห็นของคณาจารย์ และนักศึกษา และเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ประสบความสำเร็จในการเรียนระดับอุดมศึกษา การวิจัยนี้แบ่งการวิจัยออกเป็น 3 ระยะดังนี้ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหาในการเรียนระดับอุดมศึกษาของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน กลุ่มตัวอย่างเป็นคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการสอนบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยินแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ คณาจารย์หมวดวิชาเฉพาะ คณาจารย์หมวดวิชาศึกษาทั่วไป และคณาจารย์โปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ จำนวน 10 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เก็บข้อมูลโดยวิธีการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ระยะที่ 2 การศึกษาคุณลักษณะของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยินต่อการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการสอนบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน คือ คณาจารย์หมวดวิชาเฉพาะ คณาจารย์หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 42 คน และ นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ไม่สำเร็จการศึกษา และกำลังศึกษาอยู่ ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 23 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามสำหรับคณาจารย์ และการรายงานตนเอง การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างสำหรับนักศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าการทดสอบ t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) การเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยรายคู่ภายหลัง ตามวิธีการของ (Scheffe’) ระยะที่ 3 การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยินประสบความสำเร็จในการเรียนระดับอุดมศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริหารจากโรงเรียนโสตศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และอาจารย์จากสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ จำนวน 5 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เก็บข้อมูลโดยวิธีการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1. คุณลักษณะของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่ต้องการ ตามความคิดเห็นของคณาจารย์ ซึ่งเรียงตามระดับความต้องการมากที่สุด ได้แก่ ด้านทักษะความสนใจในวิชาชีพตามสาขาที่ศึกษา ด้านทักษะทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ด้านทักษะการบริหารจัดการตนเอง และด้านทักษะทางวิชาการ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่ต้องการ จำแนกตามประสบการณ์สอนของคณาจารย์ พบว่า อาจารย์ที่มีประสบการณ์แตกต่างกันมีความเห็นต่อคุณลักษณะด้านทักษะทางวิชาการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยอาจารย์ที่มีประสบการณ์สอน 2 ภาคเรียน มีความต้องการคุณลักษณะด้านทักษะทางวิชาการแตกต่างจากอาจารย์ที่มีประสบการณ์สอน 1 ภาคเรียน 3 ภาคเรียน คุณลักษณะของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ต่อการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ตามความคิดเห็นของนักศึกษา โดยแสดงความคิดเห็นจากการรายงานความสามารถของตนเอง ซึ่งเรียงตามระดับความสามารถมากที่สุด ได้แก่ ด้านทักษะทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ด้านทักษะความสนใจในวิชาชีพตามสาขาที่ศึกษา ด้านทักษะทางวิชาการ และด้านทักษะการบริหารจัดการตนเอง ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำแนกตามสถานภาพทางการเรียน พบว่า นักศึกษาที่มีสถานภาพทางการเรียนแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะด้านทักษะความสนใจในวิชาชีพตามสาขาที่ศึกษาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักศึกษาที่ไม่สำเร็จการศึกษา มีความสามารถด้านทักษะความสนใจในวิชาชีพตามสาขาที่ศึกษา แตกต่างจากนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา และนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ 2. ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ประสบความสำเร็จในการเรียนระดับอุดมศึกษา พบว่า 1) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่มีคุณลักษณะด้านทักษะความสนใจในวิชาชีพตามสาขาที่ศึกษา มีคุณลักษณะด้านทักษะทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีความอดทน มีความพยายาม และมีความมั่นใจในตนเอง จะประสบความสำเร็จในการเรียนระดับอุดมศึกษา 2) การได้รับการเตรียมความพร้อม ด้านทักษะทางวิชาการ ด้านทักษะการบริหารจัดการตนเองอย่างเพียงพอจากสถานศึกษาเดิม และการได้รับโอกาสให้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาด้วยระบบความสามารถพิเศษ การได้รับการช่วยเหลือด้านการเรียนอย่างเป็นระบบจากสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยินประสบความสำเร็จในการเรียนระดับอุดมศึกษาได้

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

การศึกษาคุณลักษณะของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ต่อการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ตามความคิดเห็นของคณาจารย์ และนักศึกษา