การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสามารถในการใช้ภาษามือไทยของนักศึกษาโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ โดยการใช้โปรแกรมการอบรมภาษามือไทยขั้นพื้นฐาน 2) เปรียบเทียบความสามารถในการใช้ภาษามือไทยของนักศึกษาโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ ก่อนและหลังการสอนโดยใช้โปรแกรมการอบรมภาษามือไทยขั้นพื้นฐาน และ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษต่อโปรแกรมการอบรมภาษามือไทยขั้นพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งกำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ที่จะต้องฝึกประสบการณ์ในโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาให้แก่บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 14 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง ใช้เวลาในการทดลอง จำนวน 30 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แผนจัดการเรียนรู้โดยใช้โปรแกรม
การอบรมภาษามือไทยขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษามือไทยก่อนและหลังเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักศึกษาต่อโปรแกรมการอบรมภาษามือไทยขั้นพื้นฐาน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่ามัธยฐาน (Median) ค่าพิสัย ควอไทล์ (Inter - Quartile Range) และทดสอบสมมุติฐานโดยใช้สถิติวิลคอกซัน The Wilcoxon Matched Pairs Signed-Ranks Test
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) ความสามารถในการใช้ภาษามือไทยของนักศึกษาโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ โดยการใช้โปรแกรมการอบรมภาษามือไทยขั้นพื้นฐานอยู่ในระดับดีมาก 2) ความสามารถในการใช้ภาษามือไทยของนักศึกษาโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ หลังการใช้โปรแกรมการอบรมภาษามือไทยขั้นพื้นฐานสูงกว่าก่อนการสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ 3) ความพึงพอใจของนักศึกษาโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษต่อการใช้โปรแกรมการอบรมภาษามือไทยขั้นพื้นฐานโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.73) |