การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เปรียบเทียบการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพตามขนาดของโรงเรียน และศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่มีผลการดำเนินงานในระดับทอง ในสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ คณะกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 228 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในศึกษาแนวปฏิบัติ ที่ดี ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่มีผลการดำเนินงานในระดับทอง จำนวน 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เจาะลึกแบบกึ่งโครงสร้าง การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลโดยใช้สถิติเอฟ (F-test) เมื่อพบความแตกต่างทดสอบรายคู่ ด้วยวิธีของ เชพเฟ่(Scheffe-Methord) ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
การดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพในสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล โดยภาพรวมและรายด้านทุกด้านมีการดำเนินงานในระดับมาก
เปรียบเทียบการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำแนกตามขนาดของโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่โดยรวม ไม่แตกต่างกันเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านบริการอนามัยโรงเรียน ด้านสุขศึกษาในโรงเรียน และด้านออกกำลังกาย กีฬา และนันทนาการ มีการดำเนินงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
การศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีพบว่าโรงเรียนมีการกำหนดนโยบายชัดเจน มีการวางแผนการทำงาน มีการทำงานเป็นทีม ผู้อำนวยการโรงเรียนมีภาวะความเป็นผู้นำ และประเมินตนเองตามมาตรฐานการประเมินโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ มีการนิเทศ ติดตามการดำเนินงาน มีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และมีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
|