ปัจจัยด้านภูมิอากาศที่มีผลต่ออุบัติการณ์โรคไข้เลือดออกในจังหวัดนราธิวาส

ประเภท: 

วิทยานิพนธ์

ผู้แต่ง: 

เอกนันท์ มะหะหมัด

สำนักพิมพ์: 

สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2557

เลขหมู่: 

ว.พ. 616.91852 อ51ป 2557

รายละเอียด: 

โรคไข้เลือดออก ปัจจุบันได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย จังหวัดนราธิวาสก็เช่นเดียวกัน โรคไข้เลือดออกถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัด การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน ความชื้นสัมพัทธ์กับอุบัติการณ์โรคไข้เลือดออก สามารถพยากรณ์การระบาดของโรค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคต่อไป การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของปัจจัยอุณหภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน ความชื้นสัมพัทธ์ที่มีผลต่ออุบัติการณ์โรคไข้เลือดออก และพยากรณ์แนวโน้มการเกิดโรคไข้เลือดออกในจังหวัดนราธิวาส เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาจากการทบทวนข้อมูลย้อนหลังโดยรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และปัจจัยด้านภูมิอากาศ จากสถานีอุตุนิยมวิทยานราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยใช้สถิติการวิเคราะห์การถดถอยเชิงซ้อน และสถิติอนุกรมเวลา ผลการศึกษาพบว่า ในปีที่มีการระบาดรุนแรงได้แก่ พ.ศ. 2550, 2551, 2553, 2556 และ 2557 มีอุบัติการณ์โรคไข้เลือดออกรายเดือน อยู่ในช่วง 115.79 - 475.98 ต่อประชากรแสนคน ในปี พ.ศ. 2553 มีอุบัติการณ์สูงสุด รองลงมา คือ พ.ศ. 2550 และ 2556 ตามลำดับ ในเดือนที่มีอุบัติการณ์โรคไข้เลือดออกรายเดือนสูง ส่วนใหญ่จะพบว่ามีอุณหภูมิอากาศสูงสุดเฉลี่ยรายเดือนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลา 1 เดือนก่อนหน้านั้น ส่วนในปีที่ไม่มีการระบาดรุนแรง ได้แก่ พ.ศ. 2548, 2549, 2552, 2554 และ 2555 มีอุบัติการณ์โรคไข้เลือดออกรายเดือน อยู่ในช่วง 23.97 - 61.10 ต่อประชากรแสนคน แนวโน้มมีการระบาดตามฤดูกาล ระบาด 1 ปี เว้น2 ปี แต่ปี พ.ศ. 2556 – 2557 ระบาด 2 ปีติดกัน อุณหภูมิอากาศสูงสุดเฉลี่ยรายเดือน และปริมาณน้ำฝนรายเดือนมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอุบัติการณ์ไข้เลือดออกรายเดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ .05 ตามลำดับ ส่วนอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยรายเดือนมีความสัมพันธ์เชิงลบกับอุบัติการณ์โรคไข้เลือดออกรายเดือน ตัวแปรอิสระทั้ง 3 ตัวสามารถร่วมกันพยากรณ์อุบัติการณ์โรคไข้เลือดออกรายเดือนได้ร้อยละ 62.73 สมการพยากรณ์อุบัติการณ์โรคไข้เลือดออกรายเดือนของจังหวัดนราธิวาส = log e-16.9941 + 0.6836 X1 - 0.1363 X2 + 0.0006 X3 โดย X1 คือ อุณหภูมิอากาศสูงสุดเฉลี่ยรายเดือน, X2 คือ อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยรายเดือน และ X3 คือ ปริมาณน้ำฝนรายเดือน จากสมการพยากรณ์ หากอุณหภูมิอากาศสูงสุดเฉลี่ยรายเดือนเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 1 เท่า จึงควรใช้ข้อมูลอุณหภูมิอากาศสูงสุดเฉลี่ยรายเดือน ในการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้เลือดออกรายเดือนของจังหวัดนราธิวาส เพราะจะทำให้มีเวลาในการเตรียมความพร้อมรับมือ 1 เดือนก่อนการระบาดของโรคไข้เลือดออก เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงสุดเฉลี่ยรายเดือนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

ปัจจัยด้านภูมิอากาศที่มีผลต่ออุบัติการณ์โรคไข้เลือดออกในจังหวัดนราธิวาส