การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับความต้องการสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาขาวิชาเครื่องกลตามความต้องการของผู้ประกอบการ และ 2) เปรียบเทียบระดับความต้องการสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ตามความต้องการของผู้ประกอบการ โดยจำแนกจาก เพศ อายุ ระดับการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน ตำแหน่งงาน รูปแบบธุรกิจ และประเภทของธุรกิจ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณโดยศึกษาข้อมูลจากกลุ่มประชากร คือ ผู้ประกอบการประเภทให้บริการเกี่ยวกับงานยานยนต์ ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี จำนวน 68 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที (t-test) และการทดสอบเอฟ (F-test)
ผลจากการวิจัย พบว่า 1) ผู้ประกอบการมีความต้องการ 3 ด้าน คือ ด้านทักษะความรู้ ด้าน ทักษะวิชาชีพ และด้านทักษะชีวิตและอาชีพ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับ ดังนี้ ด้านทักษะชีวิตและอาชีพมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านทักษะวิชาชีพ และด้านทักษะความรู้ และผู้ประกอบการมีความต้องการสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษาแตกต่างกันตามลักษณะการประกอบการ โดยผู้ประกอบการประเภทซ่อมบำรุง ต้องการผู้สำเร็จการศึกษาที่มีความรับผิดชอบในหน้าที่ มีความกระตือรือร้นในงาน ผู้ประกอบการประเภทประดับยนต์ ให้ความสำคัญในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และผู้ประกอบการประเภทเคาะพ่นสี มีความต้องการผู้สำเร็จการศึกษาที่มีทักษะความรู้และทักษะวิชาชีพในงานช่าง 2) เมื่อเปรียบเทียบความต้องการของผู้ประกอบการที่มีต่อสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษา จากการศึกษาสรุปได้ว่า ความต้องการสมรรถนะด้านทักษะความรู้ ผู้ประกอบการที่มีอายุและประสบการณ์ทำงานที่แตกต่างกัน มีความต้องการที่แตกต่างกัน ความต้องการสมรรถนะด้านทักษะวิชาชีพ ผู้ประกอบการที่มีอายุและประสบการณ์ทำงานแตกต่างกัน มีความต้องการที่แตกต่างกัน และความต้องการสมรรถนะด้านทักษะชีวิตและอาชีพ ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ทำงานแตกต่างกัน มีความต้องการที่แตกต่างกัน และ 3) ข้อเสนอแนะจากการศึกษาวิจัย สถานศึกษาและผู้ประกอบการที่มีลักษณะแตกต่างกันในประเด็น เพศ อายุ และประสบการณ์ทำงาน ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรโดยการสอดแทรกทักษะชีวิตและอาชีพ โดยเฉพาะเรื่องการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ความซื่อสัตย์สุจริต ความมานะอดทนและกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน ความรับผิดชอบในหน้าที่และงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้สามารถผลิตผู้สำเร็จการศึกษาได้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ |