การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความมั่นคงทางอาหารของผู้สูงอายุในชุมชนชนบท จังหวัดพัทลุง และเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงทางอาหารของผู้สูงอายุในชุมชนชนบท จังหวัดพัทลุง จากการสัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในเขตชุมชนชนบทของจังหวัดพัทลุงจำนวน 397 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไคสแควร์ และ สถิติ สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน
ผลการศึกษา พบว่า ระดับความมั่นคงทางอาหารของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนชนบท จังหวัดพัทลุง มีระดับความมั่นคงทางอาหารน้อย
ด้านการมีอาหารเพียงพอ อยู่ในระดับน้อย ผู้สูงอายุเคยอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งเนื่องจากมีอาหารไม่เพียงพอ ด้านการเข้าถึงอาหาร ผู้สูงอายุไม่สามารถซื้ออาหารจากร้านค้าหรือรถขายเร่ ที่อยู่ในชุมชนได้อย่างสะดวก ด้านการใช้ประโยชน์จากอาหาร ผู้สูงอายุไม่ได้รับประทานอาหารเสริมที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และด้านการมีเสถียรภาพด้านอาหาร ในแต่ละวันผู้สูงอายุใช้จ่ายเงินเพื่อเป็นค่าอาหารน้อยกว่าค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยด้านครอบครัว กับความมั่นคงทางอาหารของผู้สูงอายุ พบว่า การศึกษา รายได้ของผู้สูงอายุ อาหารที่รับประทาน โรคประจำตัว (ไขมันในเลือดสูง) จำนวนสมาชิกในครอบครัว ผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในครอบครัว ลักษณะการรับประทานอาหาร มีความ สัมพันธ์กับความมั่นคงทางอาหารของผู้สูงอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยแรงสนับสนุนทางสังคมกับความมั่นคงทางอาหารของผู้สูงอายุ พบว่า แรงสนับสนุนทางสังคมไม่มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงทางอาหารของผู้สูงอายุ
|