การศึกษาพัฒนาการจำปาดะสู่ผลงานสร้างสรรค์ : ตารีจำปาดะ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการการเจริญเติบโตของจำปาดะ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เพื่อสร้างสร้างสรรค์ผลงานการแสดงชุดตารีจำปาดะ ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ (Creative Research) โดยใช้ตัวผู้วิจัย แบบสอบถามแบบไม่เป็นทางการ การสังเกต การสนทนากลุ่ม แบบบันทึกข้อมูลภาคสนาม เป็นเครื่องมือในการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า ตารีจำปาดะ สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการทำสวนจำปาดะของเกษตรกรในอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล โดยมีกระบวนการสร้างสรรค์ 7 ขั้นตอน คือ การกำหนดแนวคิดของการแสดง การศึกษาข้อมูล การนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดรูปแบบของการแสดง การออกแบบท่ารำ การออกแบบเพลงประกอบการแสดง การออกแบบเครื่องแต่งกาย และการออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดง ตารีจำปาดะ เป็นระบำพื้นบ้านมลายูภาคใต้ เป็นการแสดงของคู่ชาย-หญิงจำนวน 5 คู่ เนื้อหาการแสดงสื่อสารถึงพัฒนาการเจริญเติบโตของจำปาดะตั้งแต่เริ่มปลูก ดูแลรักษา ออกดอกออกผลและเก็บเกี่ยวผลจำปาดะ ลักษณะที่รำออกแบบจาก 3 กลุ่ม คือ ท่าทางธรรมชาติ ท่าดาระและท่ารองเง็ง ใช้เพลงตารีจำปาดะประกอบการแสดง บรรเลงโดยเครื่องดนตรีรองเง็ง นักแสดงชายแต่งกายด้วยชุดสะรีแน่ นักแสดงหญิงแต่งกายด้วยชุดบานง โดยออกแบบจากลักษณะทางกายภาพของจำปาดะ ใช้โคร๊ะเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง และใช้เวลาในการแสดง 8 นาที ตารีจำปาดะเป็นนวัตกรรมทางด้านการแสดงที่สร้างสรรค์จากองค์ความรู้และภูมิปัญญาในชุมชนควนโดน จังหวัดสตูล ดังนั้นจึงเป็นการแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น สามารถนำไปใช้แสดงในงานวันจำปาดะจังหวัดสตูลที่จัดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม เป็นประจำทุกปีเพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการปรกอบอาชีพในชุมชนควนโดน จังหวัดสตูล |