รายละเอียด: |
ยุงลายเป็นพาหะนำไข้เลือดออกซึ่งนับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทย ปัจจุบันมีการนำสารสกัดจากพืชหลายชนิดมาใช้ในการกำจัดเพื่อทดแทนสารเคมีเนื่องจากสลายตัวได้ง่ายและไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมแต่มักไม่สะดวกในการใช้งาน การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดชนิดน้ำและชนิดผงจากใบกระถิน และใบยาสูบ (พันธุ์พื้นเมืองสงขลา)ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายระยะที่ 4 โดยใช้สารสกัดชนิดน้ำและชนิดผงที่ความเข้มข้นร้อยละ (v/v) 0.00 (ชุดควบคุม), 1.00, 1.50, 2.00, 2.50 และ 3.00 ระยะเวลาออกฤทธิ์ 12 และ 24 ชั่วโมง รวมถึงศึกษาผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำโดยใช้ปลาหางนกยูง
ผลการศึกษาพบว่าที่ระยะเวลาการออกฤทธิ์ 24 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายสูงสุด ทั้งชนิดน้ำและชนิดผงซึ่งความเข้มข้นของสารสกัดสัมพันธ์กับประสิทธิภาพโดยสารสกัดเข้มข้นชนิดน้ำความเข้มข้นร้อยละ (v/v) 3.00 จากใบยาสูบ (พันธุ์พื้นเมืองสงขลา) มีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายสูงกว่าใบกระถินมีค่าร้อยละ 100.00 (LC₅₀ =1.10) และ97.32 (LC₅₀=1.20) ตามลำดับ ส่วนสารสกัดชนิดผงความเข้มข้นร้อยละ (w/v) 3.00 จากใบยาสูบ (พันธุ์พื้นเมืองสงขลา) มีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายสูงกว่าใบกระถิน มีค่าร้อยละ 96.00 (LC₅₀=1.26) และ 85.32 (LC₅₀=1.45) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายของสารสกัดชนิดน้ำดีกว่าชนิดผงเล็กน้อย โดยแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 (P<0.05) สำหรับการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำโดยเติมสารสกัดทั้งชนิดน้ำและผงที่ความเข้มข้นร้อยละ 3.00 ลงไปในน้ำ พบว่า pH ของน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และสังเกตพบปลาหางนกยูงตายทั้งหมดในชุดทดสอบที่ใช้สารสกัดชนิดน้ำและผงจากใบยาสูบ (พันธุ์พื้นเมืองสงขลา) ที่ระยะเวลาออกฤทธิ์ 24 ชั่วโมง
|