ผลของสารสกัดพืชและเชื้อราปฏิปักษ์ต่อการควบคุมโรครากขาว ของยางพารา ภายใต้สภาพควบคุม (EFFECTS OF PLANT EXTRACTS AND ANTAGONISTIC FUNGUS ON THE CONTROL OF WHITE ROOT DISEASE OF PARA RUBBER UNDER CONTROLLED CONDITIONS)

ประเภท: 

วิทยานิพนธ์

ผู้แต่ง: 

ฟาตีเม๊าะ เจ๊ะหลี

สำนักพิมพ์: 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2561

เลขหมู่: 

633.89 ฟ24ผ 2561

รายละเอียด: 

โรครากขาวของยางพาราเกิดจากเชื้อรา Rigidoporus microporus เป็นโรคที่ทำความเสียหายต่อผลผลิตของน้ำยางและไม้ยางอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาผลของสารสกัดพืชและเชื้อราปฏิปักษ์ต่อการควบคุมโรครากขาวของยางพารา ภายใต้สภาพควบคุม ได้ศึกษา 2 ส่วน คือ ในระดับห้องปฏิบัติการและในสภาพโรงเรือน ในสภาพห้องปฏิบัติการ ทำการแยกเชื้อสาเหตุโรครากขาวของยางพารา (Rigidoporus microporus) และเชื้อราปฏิปักษ์ Trichoderma sp. จากดอกเห็ด ซึ่งเก็บจากต้นยางที่เป็นโรค จากนั้นนำเชื้อราปฏิปักษ์ Trichoderma sp. ทดสอบการยับยั้งเชื้อรา R. microporus ด้วยวิธี dual culture plate วางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design (CRD) มี 3 กรรมวิธี กรรมวิธีละ 10 ซ้ำ พบว่า เชื้อราปฏิปักษ์ Trichoderma sp. สามารถยับยั้งเชื้อราสาเหตุโรครากขาว ได้ถึง 72.22 เปอร์เซ็นต์ และทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบของพืชเปรียบเทียบกับสารเคมีกำจัดราต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา R. microporus โดยวางแผนการทดลองแบบ CRD มี 8 กรรมวิธี กรรมวิธีละ 10 ซ้ำ คือ สารสกัดหยาบจากกระเทียมที่ระดับความเข้มข้น 40,000 50,000 และ 60,000 ppm สารสกัดหยาบจากใบมังคุดที่ระดับความเข้มข้น 75,000 100,000 และ 125,000 ppm สารเคมีโพรพิโคนาโซล + โพรคลอร์ราซที่ระดับความเข้มข้น 100 ppm และชุดควบคุม ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าสารสกัดหยาบกระเทียมที่ระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 40,000 ppm มีการยับยั้งได้สูงกว่าสารเคมีกำจัดราที่ระดับความเข้มข้น 100 ppm คือ 71.00 72.54 74.78 และ 66.67 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สำหรับในสภาพโรงเรือนการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบพืชเปรียบเทียบกับสารเคมีในการป้องกันและควบคุมโรครากขาวของต้นกล้ายางพารา RRIM 600 วางแผนการทดลองแบบ CRD มี 6 กรรมวิธี กรรมวิธีละ 4 ซ้ำ คือ (1) กล้ายางพารา RRIM 600 (ชุดควบคุม) (2) กล้ายางพารา RRIM 600 + สารเคมีโพรพิโคนาโซล + โพรคลอร์ราซ 100 ppm + เชื้อรา R. microporus (3) กล้ายางพารา RRIM 600 + สารสกัดกระเทียมระดับความเข้มข้น 40,000 ppm + เชื้อรา R. microporus (4) กล้ายางพารา RRIM 600 + เชื้อรา R. microporus (5) กล้ายางพารา RRIM 600 + เชื้อรา R. microporus + สารเคมีโพรพิโคนาโซล + โพรคลอร์ราซ 100 ppm (6) กล้ายางพารา RRIM 600 + เชื้อรา R. microporus + สารสกัดหยาบกระเทียมระดับความเข้มข้น 40,000 ppm ต้นกล้ายางพาราอายุประมาณ 4 เดือน ถูกนำมาปลูกลงในถุงปลูกขนาด 6 นิ้ว x 10 นิ้ว และดูแลในโรงเรือน ต้นกล้ายางได้รับน้ำวันละครั้ง ภายหลังที่ได้รับการปฏิบัติตามกรรมวิธีต่าง ๆ เป็นเวลา 2 เดือน ผลการทดลองพบว่า มีเพียงกรรมวิธีที่ 4 ซึ่งได้รับเพียงการปลูกเชื้อรา R. microporus แสดงอาการเป็นโรค ตาย และพบเส้นใยของเชื้อราโรครากขาวของต้นกล้ายางพาราขึ้นบริเวณคอดิน จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่า สารสกัดหยาบกระเทียมและสามารถใช้ควบคุมโรครากขาวของต้นกล้ายางพาราทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ และในสภาพโรงเรือนได้

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

ผลของสารสกัดพืชและเชื้อราปฏิปักษ์ต่อการควบคุมโรครากขาว ของยางพารา ภายใต้สภาพควบคุม