การรับรู้ความเสี่ยงทางสุขภาพของคนชายแดนไทย – มาเลเซีย (Health Risk Perception among Thai People in Thailand – Malaysia Borderland)

ประเภท: 

วิทยานิพนธ์

ผู้แต่ง: 

สุกัญญา บูอีตำ

สำนักพิมพ์: 

สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2564

เลขหมู่: 

รายละเอียด: 

การวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเสี่ยงทางสุขภาพตามการรับรู้ของคนชายแดนไทย – มาเลเซีย ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากรในพื้นที่ชุมชนจุดผ่านแดนถาวร 9 แห่ง ช่วงเดือนมกราคม 2562–มีนาคม 2563 ด้วย 1) การสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้ให้ข้อมูล 3 กลุ่ม คือ กลุ่มประชาชนโดยทั่วไป กลุ่มผู้นำชุมชน และกลุ่มบุคลกรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ รวม 99 คน โดยใช้เทคนิคการค้นหาผู้ให้ข้อมูลแบบ “Snowball” 2) การสังเกตในสถานการณ์ต่าง ๆ 12 ครั้ง และ 3) การสนทนากลุ่ม 3 ครั้ง เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแนวคำถามสำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม แนวทางการสังเกตได้พัฒนาขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องตามกรอบแนวคิดของการวิจัย ใช้การตรวจสอบและขอคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน เพื่อพิจารณาความครอบคลุมและความยากง่ายในการนำไปใช้ ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลของโคไลซี ดำเนินการควบคุมคุณภาพของข้อมูลโดยใช้การตรวจสอบสามเส้าหลายวิธีตามสภาพและความจำเพาะของข้อมูล ผลการวิจัยพบว่าบริเวณชุมชนจุดผ่านแดนถาวรทั้ง 9 แห่ง มีลักษณะการดำเนินชีวิตแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ ปริมาณการค้าชายแดน และปริมาณผู้เดินทางผ่านแดนระหว่างประเทศ ส่วนที่คล้ายกันคือการเข้ามาพักอาศัยเพื่อให้การเดินทางสะดวกและไม่ไกลกับการประกอบอาชีพ และพบความเสี่ยงทางสุขภาพตามการรับรู้ของคนชายแดนไทย – มาเลเซีย โดยเรียงลำดับตามความตระหนัก ได้ดังต่อไปนี้ 1) อันตรายจากการอุปโภคและบริโภคสินค้าชายแดนที่ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องและไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้า 2) อันตรายจากการกักตุนเก็บสินค้าอุปโภค/บริโภค ต่าง ๆ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง น้ำมันพืช น้ำมันเชื้อเพลิง และสารเคมี 3) อันตรายจากโรคติดต่ออันตรายตามแนวชายแดนและข้ามแดนระหว่างประเทศ 4) ความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพจิตและการติดยาเสพติด และ 5) ความเสี่ยงต่ออนาคตของเด็กและเยาวชนเนื่องจากระดับความผูกพันในครอบครัวลดลง ในภาพรวมทำให้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่และคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตที่เป็นความเสี่ยงทางสุขภาพ ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ดังนั้นรัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยจึงควรมีมาตรการเพิ่มเติมและมีการบูรณาการหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคลากรสาธารณสุขให้มีสมรรถนะในการควบคุมป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพของคนชายแดนไทย – มาเลเซีย เพิ่มเติมจากเดิมที่เป็นเพียงด่านควบคุมโรคเท่านั้น

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

การรับรู้ความเสี่ยงทางสุขภาพของคนชายแดนไทย – มาเลเซีย