วาทศาสตร์แนวพุทธ

ประเภท: 

งานวิจัย

ผู้แต่ง: 

สว่างจิต พงศ์ศรีวัฒน์

สำนักพิมพ์: 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2551

เลขหมู่: 

ว.808.5 ส17ว

รายละเอียด: 

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเกี่ยวกับหลักการพูดในคัมภีร์พระไตรปิฎก ใช้ระเบียบวิธีวิจัยประเภทการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) กําหนดหัวข้อประเด็นในการวิจัยตามแนวคิดแบบจําลองการติดต่อสื่อสารของฮาโรลด์ ดี. ลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) ซึ่งได้แก่ การศึกษาองค์ประกอบเกี่ยวกับ ผู้พูด สารที่นํามาใช้สื่อสาร ภาษาที่ใช้ในการพูดสื่อสาร ผู้ฟัง และผลของการพูด เพื่อนํามารวบรวมเป็นองค์ความรู้เรื่องวาทศาสตร์ แนวพุทธ ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ การพูด คือ การเปล่งถ้อยคําแสดงให้รู้ความหมายด้วยวาจา และกิริยาท่าทาง โดยผู้พูดต้องมีเจตนา ตรึก และตรองก่อนจึงจะเกิดถ้อยคําได้ ความสําคัญของการพูด ก็คือ บุคคลจะสุขหรือทุกข์ สาเหตุอย่างหนึ่งมาจากการพูดของตนเองและคนอื่น ทั้งโดยจงใจและไม่จงใจ และบุคคลจะเสื่อมหรือเจริญขึ้นอยู่กับการพูดของตน ผู้พูดควรยึดหลักการพูด ดังนี้คือ คําพูดใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง ไม่ควรพูด คําพูดใด เป็นคําจริงแท้ แต่ไม่มีประโยชน์ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง ไม่ควรพูด คําพูดใด เป็นคําจริงแท้ และมีประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับกาลเทศะก่อนจึงจะพูด คําพูดใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่มีประโยชน์ แม้คําพูดนั้นจะเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง ไม่ควรพูด คําพูดใด เป็นคําจริงแท้ ไม่มีประโยชน์ แม้เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง ไม่ควรพูด คําพูดใดเป็นคํา จริงแท้ มีประโยชน์ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับกาลเทศะก่อนจึงพูด ผู้พูดไม่ควรใคร่ความสรรเสริญในการพูดต่อชุมชน เพราะถ้าไม่ได้รับการสรรเสริญตามที่หวังอาจทําให้เกิดความลังเลใจ เก้อเขิน ขัดเคือง เสียใจ ถ้าได้รับการสรรเสริญความเฟื่องฟูในชัยชนะจะย่ำยีผู้พูด คือ ทําให้หัวเราะลําพองใจในความเป็นผู้ชนะ เกิดความเห่อเหิมยกย่องถือตัว และดูหมิ่นผู้อื่น สารที่ควรนํามาใช้สื่อสาร ก็คือ สารที่ทําให้ผู้พูดและผู้ฟังมีกุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมลง ไม่ทําร้ายเบียดเบียนกัน สารที่ไม่ควรนํามาใช้สื่อสาร ก็คือ สารที่เป็นเท็จ สารที่มีลักษณะเสียดแทงให้เจ็บใจ สารที่มีลักษณะส่อเสียด สารทําให้ผู้พูด และผู้ฟังมีกุศลธรรมเสื่อมลง อกุศลธรรมเจริญขึ้น และทําร้ายเบียดเบียนกัน ภาษาหรือถ้อยคําที่ควรนํามาใช้ในการสื่อสาร ก็คือ ถ้อยคําที่จริง ถ้อยคําที่สุภาพถ้อยคำนุ่มนวล ไพเราะอ่อนหวาน จับใจ ถ้อยคําฟังสบายหู ถ้อยคําไม่ส่อเสียด ถ้อยคําไม่เพ้อเจ้อ ถ้อยคําไร้โทษ ถ้อยคําที่ประกอบด้วยเมตตาจิต ถ้อยคําที่ถูกกาล ถ้อยคําที่เป็นสุภาษิตเป็นที่ยินดีเจริญใจของผู้ฟัง และเป็นถ้อยคําภาษาถิ่นของผู้ฟัง ภาษาหรือถ้อยคําที่ไม่ควรนํามาใช้ในการสื่อสาร ก็คือ ถ้อยคําที่เป็นเท็จ ถ้อยคําที่ลามก ถ้อยคําหยาบคาย ถ้อยคําส่อเสียด ถ้อยคําเพ้อเจ้อ ถ้อยคําที่วิญญูชนติเตียนถ้อยคําที่เป็นทุพภาษิต เป็นที่ยั่วให้ผู้อื่นโกรธ และทําลายสมาธิของผู้อื่น ผู้ฟังควรปฏิบัติ ดังนี้ คือ ควรมีสติรู้เท่าทันว่า ถ้อยคําพูดของบุคคลที่ตนได้ฟังนั้น อาจก่อให้เกิดสุข เกิดทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ได้ตลอดเวลา ต้องถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๒ อย่าง คือ การสดับฟังให้มาก กระทําในใจโดยแยบคาย และการตั้งมั่นในศีล ซึ่งสองสิ่งนี้จะช่วยเป็นแนวทางให้ผู้ฟังเกิดสัมมาวาจา นอกจากนี้ต้อง ไม่มีจิตฟุ้งซ่านในขณะที่ฟัง รู้จักเลือกฟัง กล่าวคือ คําพูดใดที่ฟังแล้วทําให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมลงก็ควรฟัง หากเป็นตรงข้ามก็ไม่ควรฟัง และต้องรู้จักใช้วิจารณญาณหรือใช้ปัญญาใคร่ครวญ ไม่เชื่อโดยง่าย รู้จักสอบถาม หากพบว่าสารหรือเนื้อหาใดดี มีประโยชน์เพื่อสุข ก็ให้นํามาปฏิบัติ หากเป็นโทษกให้ละในสิ่งนั้น และไม่หวั่นไหวในถ้อยคําทั้งหลาย ผลของการพูด การพูดจะประสบผลสําเร็จหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของผู้พูดและผู้ฟังเป็นสําคัญ การพูดด้วยวาจาสุจริต ผู้พูดจะได้รับผลกรรมดีในภพนี้ คือ จะประสบแต่ความสุขโสมนัส ไม่เดือดร้อน ไม่ทุกข์ ไม่คับแค้น ไม่เศร้าโศกร่ำไห้ ไม่ถึงความหลงสติในปัจจุบัน และจะได้รับผลกรรมดีในภพหน้า คือ ทําให้เข้าถึงกําเนิดมนุษย์ และเทวดา เป็นที่บูชาของหมู่มนุษย์หรือเทวดา ได้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ การพูดด้วยวาจาทุจริต ผู้พูดจะได้รับผลกรรมในภพนี้ คือ จะประสบแต่ความทุกข์โทมนัส เดือดร้อน ลําบากใจ คร่ำครวญร่ำไห้ถึงความหลงสติในปัจจุบัน และจะได้รับผลกรรมในชาติหน้า คือ หากไปเกิดเป็นมนุษย์อีก จะเกิดในสกุลต่ำลําบาก และอาจเข้าถึงทุคติโลกนรก หรือไปกําเนิดเป็นสัตว์ ดิรัจฉาน จากวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่กําหนดไว้ว่า เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เรื่องวาทศาสตร์แนวพุทธ สําหรับนํามาใช้ในการเรียนการสอนรายวิชาวาทการ หากพิจารณานิยามความหมายของวิชาวาทการที่อธิบายว่า หมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยถ้อยคําระหว่างบุคคล จึงอาจสรุปได้ว่า ผลจากการวิจัยเรื่องวาทศาสตร์แนวพุทธในครั้งนี้ สามารถจัดเป็นองค์ความรู้ด้านวาทวิทยา และสามารถนํามาใช้ในการเรียนการสอนในรายวิชาวาทการแก่นักศึกษาได้

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

ส่วนหน้า

บทคัดย่อ

สารบัญ

บทที่1 บทนำ

บทที่2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่3 วิธีดำเนินการศึกษาวิจัย

บทที่4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

บทที่5 สรุป อภิปรายผลการศึกษาค้นคว้า และข้อเสนอแนะ

บรรณานุกรม

ภาคผนวก