หนึ่งศตวรรษเศรษฐกิจของคนลุ่มทะเลสาบสงขลา

ประเภท: 

งานวิจัย

ผู้แต่ง: 

กิตติ ตันไทย

สำนักพิมพ์: 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย

ปีที่พิมพ์: 

2552

เลขหมู่: 

ว.338.1731 ก34ห

รายละเอียด: 

หนังสือเรื่องนี้เป็นการศึกษาเรื่อง เศรษฐกิจท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ศึกษาเฉพาะกรณีข้าวและยางพารา ตั้งแต่ พ.ศ. 2439-2539 ซึ่งครอบคลุมเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง และพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสงขลา มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของข้าวและยางพาราที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชาวนาและชาวสวนยางพาราในท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยศึกษาปัจจัยทั้งภายในและภาย นอกประเทศที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการผลิต ความสัมพันธ์ทางการผลิตการบริโภค การ ค้าขายแลกเปลี่ยน ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการผลิตข้าวและยางพารา โดยเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ชาวนาและชาวสวนยางพารามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนเอง ผลการศึกษาพบว่าสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะชาวนาในช่วงก่อน พ.ศ. 2453 มีสภาพเศรษฐกิจพอยังชีพตามแบบศักดินา มีวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมคือ ทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การไถ ปักดํา เก็บเกี่ยว อาศัยแรงงานคน สัตว์เลี้ยง และน้ำฝนเป็นสําคัญควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือในการทํานาที่ไม่สลับซับซ้อน เช่น ไถ คราด จอบ เสียม ซึ่งบางส่วนเป็นของที่ทําขึ้นเอง บางส่วนซื้อจากท้องถิ่นใกล้เคียง โดยมีจุดมุ่งหมายในการผลิตเพื่อบริโภคภายในครอบครัวเป็นสําคัญ อาจมีการแลกเปลี่ยน ซื้อขายกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้พอเพียงในสิ่งจําเป็นเท่านั้น ส่วนการค้าขายแบบเศรษฐกิจการค้าตามระบบทุนนิยมจะปรากฏให้เห็นในชุมชนสังคมเมือง โดยเฉพาะเมืองท่าชายทะเล เช่น เมืองสงขลา แต่การก่อตัวของระบบทุนนิยมจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่ เกิดนายทุนอิสระ เพราะกําไรจากการค้าขายไม่ได้นํามาผลิตซ้ำ แต่นําไปเพื่อรักษาระบบศักดินาให้คงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีมากกว่า สําหรับวิถีชีวิตของชาวนาจะอยู่ใต้ระบบศักดินา ถูกขูดรีดผลผลิตส่วนเกินในรูปของการเกณฑ์แรงงาน เสียส่วยสาอากร ให้กับรัฐและถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐเอารัดเอาเปรียบ นอกจาก นี้รัฐยังจงใจละทิ้งการดูแลทุกข์สุขของชาวนา ทําให้พวกเขาเลือกที่จะรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือตัวเอง มีความเกื้อกูล และเอื้ออาทรต่อกัน ตลอดจนร่วมกันสร้างเครือข่ายเพื่อป้องกันและพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สิน ของกันและกันมากกว่าจะพึ่งอํานาจรัฐ สภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชาวนาและชาวสวนยางพาราในช่วง พ.ศ. 2453-2500 เริ่ม เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบทุนนิยม โดยชาวนาเริ่มหันมาผลิตข้าวเพื่อขาย ในขณะที่ผู้คนที่อยู่ในบริเวณ เชิงเขาหรือพื้นที่สูงเริ่มหันมาปลูกยางพาราเป็นอาชีพเสริม การที่ชาวนาและชาวสวนยางพาราเริ่มผลิต ข้าวและยางพาราเพื่อขาย ทําให้ตลาดและเงินตราในระบบทุนนิยมเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของ ผู้คนมากขึ้น แต่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในท้องถิ่นไม่มากนัก เพราะชาวนาและชาวสวนยางพาราไม่ได้ เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต คงใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ใช้แรงงานในครอบครัวสัตว์เลี้ยง เป็นปัจจัย สําคัญในการผลิตต้นทุนการผลิตจึงต่ำ ขายผลผลิตไม่ขาดทุน ประกอบกับทรัพยากรในท้องถิ่นยังมี ฃความอุดมสมบูรณ์สูง สามารถหล่อเลี้ยงการดํารงชีพของผู้คนในท้องถิ่นได้อย่างดี ระบบเงินจึงยังไม่เข้า มาทําลายความสัมพันธ์ที่ดีงามของวิถีชีวิตแบบเดิม ดังนั้นระบบทุนนิยมที่เริ่มก่อตัวขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสภาพเศรษฐกิจของคนเหล่านี้ไม่มากนัก ในช่วง พ.ศ. 2500-2539 สภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชาวนาและชาวสวนยางพารา ได้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ทั้งนี้เกิดจากชาวนาเปลี่ยนเป้าหมายการผลิต จากการผลิตข้าวเพื่อบริโภค มาเป็นเพื่อการค้าขายอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันชาวสวนยางพาราได้เปลี่ยนเป้าหมายการผลิตจาก เพื่อเป็นอาชีพเสริมมาเป็นอาชีพหลักโดยการปลูกพืชเชิงเดียว ทําให้ระบบทุนนิยมแทรกตัวเข้ามาใน ชุมชนอย่างรวดเร็ว ควบคุมเป้าหมายการผลิต ปัจจัยการผลิต ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ส่งผลกระทบต่อชาวนาและชาวสวนยางพาราอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเมื่อชาวนาและชาวสวนยางพารา ผลิตเพื่อขายอย่างจริงจัง จะต้องเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตของตน เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจําวัน อย่างเพียงพอ โดยปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งต้องใช้เงินซื้อหาทั้งสิ้น ไม่ว่ารถไถ ปุ๋ย พันธุ์พืช หรือยากําจัดศัตรูพืช ทําให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เมื่อพวกเขาต้องการซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิต ของตน จะถูกพ่อค้าใช้ระบบกลไกตลาดเอารัดเอาเปรียบ ขายปัจจัยการผลิตในราคาสูงแต่กดราคาผลผลิต ให้ต่ำลง จนชาวนาและชาวสวนยางพาราต้องจําใจขายสินค้าราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จนบางครั้งต้องขาดทุน และเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตของตน ผู้คนเหล่านี้จะประสบความทุกข์ยากอย่างยิ่ง เพราะไม่สามารถพึ่งพิงทรัพยากรในท้องถิ่นได้อีกต่อไป เนื่องจากระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ในท้องถิ่นถูกทําลายลง เพราะชาวนาและชาวสวนยางพาราใช้ปุ๋ยและยากําจัดศัตรูพืชอย่างไม่ระมัดระวัง ดังนั้นเมื่อชาวนาและชาวสวนยางพาราประสบปัญหาขายผลผลิตได้ราคาต่ำจนขาดทุน หรือเกิดภัยธรรมชาติ จะเกิดปัญหาในการหาเงินมาซื้อหาสิ่งของอุปโภคบริโภค หรือผลิตซ้ำในปีต่อไป ซึ่งนําไปสู่ การเกิดภาระหนี้สินขึ้นในที่สุด นอกจากนี้ระบบเงินตรายังทําลายความสัมพันธ์ที่ดีงามในท้องถิ่น เพราะผู้คนสามารถใช้เงินซื้อหาแทนการขอความช่วยเหลือกันดังเช่นในอดีต วิถีชีวิตของคนจึงเปลี่ยนไป จากชีวิตที่เคยอยู่อย่างเรียบง่าย ผ่อนคลาย ไปสู่ชีวิตที่สับสน ต้องดิ้นรนตลอดเวลาเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย ในครอบครัว และชําระหนี้สินที่เกิดขึ้น หลังจากการผลิตเพื่อขายอย่างแท้จริง

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

ส่วนหน้า

บทคัดย่อ

สารบัญ

บทที่1 บทนำ

บทืที่2 สภาพเศรษฐกิจดั้งเดิมของท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาก่อน พ.ศ. 2453

บทที่3 สภาพเศรษฐกิจท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตั้งแต่ พ.ศ. 2453 - พ.ศ.2500

บทที่4 สภาพเศรษฐกิจท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2539

บทที่5 บทสรุป

บรรณานุกรม

ภาคผนวก