การศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ สำหรับนักเรียนปฐมวัยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง

ประเภท: 

วิทยานิพนธ์

ผู้แต่ง: 

พรทิพย์ หนูทอง

สำนักพิมพ์: 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2551

เลขหมู่: 

รายละเอียด: 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อสร้างแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ แบบบูรณาการ สำหรับนักเรียนปฐมวัยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการใช้ภาษาไทยของนักเรียนกลุ่มทดลองที่จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการกับกลุ่มควบคุมที่จัดการเรียนรู้แบบปกติ และ 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการใช้ภาษาไทยของนักเรียนกลุ่มทดลองก่อนใช้และหลังการใช้แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการ กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านดูซงปาแย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 1 เป็นกลุ่มทดลอง และนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านจาแบปะมิตรภาพที่ 197 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 1 เป็นกลุ่มควบคุม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ ประกอบด้วย แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการ จำนวน 10 แผนการเรียนรู้ แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบปกติ จำนวน 10 แผนการเรียนรู้ แบบฝึกทักษะการใช้ภาษาไทยสำหรับกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จำนวน 20 กิจกรรม และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการใช้ภาษาไทย แบบปรนัยชนิด 3 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ จำนวน 1 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้สถิติทดสอบแบบที (t-test) แบบ Dependent และ Independent ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการ สำหรับนักเรียนปฐมวัยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษา ที่สอง มีประสิทธิภาพด้านกระบวนการและผลลัพธ์เท่ากับ 93.56/98 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด คือ 80/80 2. ผลการทดสอบคะแนนก่อนเรียนระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 3. ผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการใช้ภาษาของนักเรียนกลุ่มทดลองหลังการใช้แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการสูงกว่าผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการใช้ภาษาไทยของนักเรียนกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 4. ผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะการใช้ภาษาไทยของนักเรียนกลุ่มทดลองหลังการใช้แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการสูงกว่าก่อนการใช้แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ข้อเสนอแนะการวิจัย การวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะ 3 ด้าน คือ 1. ด้านการนำผลการวิจัยไปใช้ มี 2 ประการ คือ 1) ครูควรนำการสอนแบบบูรณาการระหว่างภาษามลายูกับภาษาไทยไปใช้ในกิจกรรมการจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของนักเรียน และ 2) ครูควรใช้สื่อของจริงหรือรูปภาพที่นักเรียนสามารถจับสัมผัสได้เป็นสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่สิ่งที่เป็นนามธรรมได้ 2. ด้านการวิจัยครั้งต่อไป มี 2 ประการ คือ 1) ควรเพิ่มกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียน ได้นำเสนอผลงานในลักษณะงานกลุ่ม และงานเดี่ยว เพื่อฝึกทักษะการพูด และการฟังของนักเรียน และ 2) ควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่นำเนื้อหาสาระที่อยู่ในบริบทของชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งภาษา และวัฒนธรรมมาบูรณาการกับการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น 3. ด้านเชิงนโยบาย มี 3 ประการ คือ 1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรมีนโยบายในการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่มีรูปแบบการสอนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการระหว่าง ภาษามลายูกับภาษาไทยในระดับชั้นปฐมวัย โดยบรรจุไว้ในแผนกลยุทธ์ของสถานศึกษา และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 2) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรมีโครงการจัดฝึกอบรมครูผู้สอน ในระดับชั้นปฐมวัย ในด้านการสอนแบบบูรณาการระหว่างภาษามลายูกับภาษาไทย และ 3) ผู้บริหารโรงเรียนควรคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการใช้ภาษาไทยและ ภาษามลายูในการสื่อสารมาจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

ส่วนหน้า

บทคัดย่อ

สารบัญ

บทที่1 บทนำ

บทที่2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่3 วิธีดำเนินการวิจัย

บทที่4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

บทที่5 สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

บรรณานุกรม

ภาคผนวก