สภาพการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์เพื่อผลิตผักรับประทานดอกวงศ์กะหล่ำในจังหวัดสงขลา

ประเภท: 

วิทยานิพนธ์

ผู้แต่ง: 

พิชัย อินศิริ

สำนักพิมพ์: 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2553

เลขหมู่: 

ว.พ.631.584 พ32ส

รายละเอียด: 

การศึกษาเรื่องสภาพการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์เพื่อผลิตผักรับประทานดอกวงศ์กะหล่ำในจังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สำรวจสภาพการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ในการผลิตผักรับประทานดอกวงศ์กะหล่ำ ได้แก่ บรอคโคลีและกะหล่ำดอก (2) ศึกษาการใช้เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์โดยการให้ ปุ๋ยมูลไก่เนื้อ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยมูลไก่เนื้อร่วมกับปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยมูลค้างคาวชนิดเม็ด และป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีเขตกรรม ใช้วิธีกล และใช้สารกำจัดศัตรูพืชจากธรรมชาติ เปรียบเทียบการเจริญเติบโตและผลผลิตของบรอคโคลีและกะหล่ำดอกที่ได้รับปุ๋ยแต่ละชนิด (3) ศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรและเป็นแนวทางที่จะนำผลจากการศึกษาไปใช้ในการเผยแพร่ความรู้สู่เกษตรกร กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือเกษตรกรผู้ปลูกผักรับประทานดอกวงศ์กะหล่ำ ได้แก่ บรอคโคลีและกะหล่ำดอก ในเขตพื้นที่ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ซึ่งปลูกบรอคโคลีและกะหล่ำดอก ในปีเพาะปลูก 2553 จำนวน 26 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสัมภาษณ์ และแปลงทดลอง ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหญิง มีอายุเฉลี่ย 58 ปี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษา มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 4.04 คน มีจำนวนแรงงานในครัวเรือนเฉลี่ย 2.62 คน ประกอบอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลัก มีพื้นที่ถือครองไม่เกิน 5 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ถือครองของตัวเอง มีรายได้สุทธิจากการขายผลผลิตทางการเกษตรต่อปีเฉลี่ย 47,346.15 บาท และมีรายได้สุทธิที่เป็นเงินสดนอกภาคเกษตรเฉลี่ย 10,846.15 บาท เกษตรกรส่วนใหญ่เคยเข้ารับการอบรมความรู้เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ โดยแหล่งความรู้ที่สำคัญคือ เกษตรตำบล มีการไถเตรียมดินก่อนปลูก มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการผลิต ให้น้ำในช่วงเช้า-เย็น โดยใช้สายยางที่สวมหัวฝักบัวหรือเครื่องปั๊มน้ำ มีการกำจัดวัชพืชด้วยวิธีกลและวิธีเขตกรรม และมีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในการผลิตผักโดยใช้สารเคมี ปัญหาในการผลิต ได้แก่ สภาพดิน เมล็ดพันธุ์ราคาแพง เมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำ สารเคมีราคาแพง ขาดแคลนน้ำเพื่อนำมาทำการเกษตร ขาดแคลนเงินทุน โรคและแมลงระบาด ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เอง พ่อค้าคนกลางกดราคา เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมาตรวจเยี่ยมไม่สม่ำเสมอ และการขาดคำแนะนำด้านตลาด เกษตรกรมีการปฏิบัติตามเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์เป็นประจำ ได้แก่ การเตรียมดิน การใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักบำรุงต้นในช่วงการเจริญเติบโต เกษตรกรมีการยอมรับเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ในระดับมาก ได้แก่ การเลือกพื้นที่ การเตรียมดิน การให้น้ำโดยใช้สายยางสวมฝักบัวรดน้ำ การใช้ปุ๋ยมูลไก่เนื้อ การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ราคาผลผลิต การทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น และความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโต และผลผลิตของบรอคโคลีและกะหล่ำดอกที่ให้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างชนิดกันโดยการให้ ปุ๋ยมูลไก่เนื้อ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยมูลไก่เนื้อร่วมกับปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยมูลค้างคาวชนิดเม็ด เปรียบเทียบกับการให้ปุ๋ยเคมี และป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีเขตกรรม ใช้วิธีกล และใช้สารกำจัดศัตรูพืชจากธรรมชาติ พบว่า บรอคโคลีและกะหล่ำดอก ที่ปลูกโดยให้ปุ๋ยต่างชนิดกันมีจำนวนต้นกล้ารอดตายและจำนวนต้นเก็บเกี่ยวที่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยต้นที่ได้รับปุ๋ยเคมีมีความสูงและน้ำหนักต้นสูงที่สุดอย่างแตกต่างทางสถิติจากต้นที่ได้รับปุ๋ยชนิดอื่น และให้ดอกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ก้านช่อดอกยาวที่สุด น้ำหนักหลังการตัดแต่งสูงที่สุดโดยไม่แตกต่างกันทางสถิติกับต้นที่ได้รับปุ๋ยมูลไก่เนื้อ และปุ๋ยมูลค้างคาว ขณะที่ต้นที่ได้รับปุ๋ยน้ำชีวภาพมีอายุออกดอกและอายุเก็บเกี่ยวยาวนานกว่าต้นที่ได้รับปุ๋ยชนิดอื่นๆ และให้ต้นที่มีความสูงและน้ำหนักต้นต่ำที่สุด ให้ดอกที่มีขนาดเล็กที่สุด ก้านช่อดอกสั้นที่สุด และน้ำหนักหลังการตัดแต่งน้อยที่สุด การประเมินการยอมรับการใช้เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์จากการใช้แบบสอบถามประเมินเกษตรกร 2 กลุ่มที่เยี่ยมชมแปลงสาธิต พบว่าเกษตรกรผู้ปลูกผักรับประทานดอกวงศ์กะหล่ำ และกลุ่มผู้ไม่ได้ปลูกผักรับประทานดอกวงศ์กะหล่ำมีการยอมรับเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ในระดับมากและไม่แตกต่างกันทางสถิติ การประเมินการยอมรับเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ก่อนและหลังการได้รับความรู้จากการเยี่ยมแปลง ของเกษตรกรผู้ปลูกผักรับประทานดอกวงศ์กะหล่ำพบว่าเกษตรกรมีการยอมรับเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นภายหลังการได้รับความรู้ที่จัดให้

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

ส่วนหน้า

บทคัดย่อ

สารบัญ

บทที่1 บทนำ

บทที่2 การตรวจเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่3 วิธีดำเนินการวิจัย

บทที่4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

บทที่5 สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

บรรณานุกรม

ภาคผนวก

ประวัติผู้วิจัย