การศึกษาระบาดวิทยาของโรคเริมเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ 1 ในจังหวัดสงขลา: กรณีศึกษาอำเภอระโนด

ประเภท: 

วิทยานิพนธ์

ผู้แต่ง: 

จรรย์พัฒน์ หนูพันธ์

สำนักพิมพ์: 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ปีที่พิมพ์: 

2556

เลขหมู่: 

ว.พ.616.522 จ17ก

รายละเอียด: 

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบขนาดและแนวโน้มของการเกิดโรคเริมในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาการกระจายของโรคเริมในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ตามบุคคล เวลา สถานที่ เพื่อศึกษาการปฏิบัติตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคเริมของผู้ป่วยในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และเพื่อหามาตรการในการป้องกันควบคุมโรคเริมในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กลุ่มตัวอย่างการวิจัยได้แก่ ผู้ป่วยด้วยโรคเริมเฮอร์ปีซิมเพลกซ์ 1 (HSV-1) ทุกคนที่อยู่ในเขตพื้นที่ของอำเภอระโนด จังหวัด สงขลา ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 ถึง 30 กันยายน 2555 จำนวน 98 ราย เครื่องมือรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโรคเริม ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนกันยายน 2555 และแบบสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา เช่น จำนวน อัตราป่วยต่อแสนประชากร ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรม สำเร็จรูป Epi InfoTM Version 2005 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ทั้งหมด 98 คน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีเชื้อชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 33.7% มีอาชีพทำนา โดยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในช่วง 3,000-5,999 บาท มีสถานภาพคู่/สมรส มีระดับการศึกษาประถมศึกษาและกลุ่มตัวอย่างเริ่มป่วยเป็นโรคเริมเฮอร์ปีซิมเพลกซ์ 1 (HSV-1) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 กลุ่มป่วยเริ่มรักษาอาการเมื่อเริ่มเป็นโรคเริมเฮอร์ปีซิมเพลกซ์ 1 (HSV-1) ในปี พ.ศ. 2554 กลุ่มตัวอย่างอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาขณะป่วย เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลระโนด ป่วยเป็นโรคเริมบริเวณปาก มีอาการที่มารักษาในครั้งนี้คือ ปวดแสบปวดร้อน มีอาการก่อนที่จะมารักษาที่สถานีอามัยหรือโรงพยาบาลมาแล้ว 1-7 วัน เมื่อเริ่มมีอาการมีการรักษาโดยการทายาสมุนไพรและหาแพทย์คลินิก ป่วยด้วยโรคเริมครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นการป่วยครั้งแรก ขนาดและแนวโน้มของการเกิดโรคเริมเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ 1 ในเขตอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ในปี 2551 มีผู้ป่วย 42 คน คิดเป็นอัตราป่วย 61.48 ต่อแสนประชากร ปี 2552 มีผู้ป่วย 57 คน คิดเป็นอัตราป่วย 83.45 ต่อแสนประชากร ปี 2553 มีผู้ป่วย 65 คน คิดเป็นอัตราป่วย 97.16 ต่อแสนประชากรปี 2554 มีผู้ป่วย 79 คน คิดเป็นอัตราป่วย 115.65 ต่อแสนประชากรปี 2555 มีผู้ป่วย 98 คน คิดเป็นอัตราป่วย 136.45 ต่อแสนประชากร แสดงว่ามีการเกิดโรคเริมในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลาทุกปีและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ การเกิดโรคเริมตามบุคคล เวลา สถานที่ พบว่า เพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ เชื้อชาติไทย สถานภาพสมรสคู่ ระดับการศึกษาประถมศึกษา อาชีพทำนา และจะพบในช่วงอายุ 60 ปี ขึ้นไปมากที่สุด ส่วนใหญ่จะป่วยเป็นโรคเริมบริเวณปาก มีอาการปวดแสบปวดร้อน เริ่มมีอาการมีการรักษาโดยการทายาสมุนไพรและหาแพทย์คลินิก การป่วยด้วยโรคเริมครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นการป่วยครั้งแรก ช่วงเดือนที่ผู้ป่วยมีอาการอยู่ในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม จำนวนป่วย 14 คน 16 คน 11 คน ร้อยละ 14.28, 16.32 และ 11.22 ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างจะป่วยอยู่ในเขตตำบลระโนดมากที่สุด การปฏิบัติตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้ มีปริมาณระดับปานกลาง 4 รายการ ได้แก่ อุณหภูมิอบอ้าว พักผ่อนน้อย และมีความเครียด มีเหงื่อไคลหมักหมมเป็นเวลานาน และระดับน้อย 5 รายการ ได้แก่ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการสัมผัสเสียดสีกับบุคคลอื่น มีการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วย มีการสัมผัสผู้ป่วยโรคเริม มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรส ตามลำดับ ส่วนการปฏิบัติตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงปริมาณระดับมากกับไม่เสี่ยง ไม่มี มาตรการในการป้องกันควบคุมโรคเริมในอำเภอระโนด แบ่งมาตรการเป็น 2 ส่วน คือ การลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคเริมและการรักษา ซึ่งการลดปัจจัยเสี่ยงกับบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกเกิด-4 ปี กลุ่ม 25-59 ปี และกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป และการรักษา ส่งเสริมให้ใช้สมุนไพร

ไฟล์เอกสาร: 

(คลิกที่ชื่อเอกสารเพื่ออ่าน) 

ส่วนหน้า

บทคัดย่อ

สารบัญ

บทที่ 1 บทนำ

บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย

บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

บทที่ 5 สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

บรรณานุกรม

ภาคผนวก

ประวัติผู้วิจัย